ออมสินชี้แจงการกู้เงินครูโครงการ ช.พ.ค.-ชพส. และเหตุผลการทำประกัน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษธนาคารออมสินเกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.นั้น ธนาคารเคยชี้แจงหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลว่าปี 2542 รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค. จัดหาเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู เพื่อให้ข้าราชการครูไปชำระหนี้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 500 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา กระทรวงศึกษาธิการ จึงมีหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังมอบหมายให้ธนาคารออมสินพิจารณา
ทั้งนี้ จากการพิจารณาหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้สิน และธนาคารออมสิน ได้กำหนดเจตนารมณ์ร่วมกันให้มีการรวมหนี้นอกระบบทั้งหมดของผู้กู้มาไว้ที่ธนาคาร โดยผู้กู้จะรวมกลุ่มย่อย 5-10 คน เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน กรณีมีผู้กู้คนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ผู้ค้ำประกันในกลุ่มต้องรับภาระหนี้แทน จึงมีการเรียกร้องให้มีการทำประกัน เพื่อประกันสินเชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เมื่อผู้กู้เสียชีวิต จะไม่ทิ้งภาระไว้ให้แก่ผู้ค้ำประกัน และทายาท ซึ่งเก็บค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวตลอดอายุสัญญา เช่น สัญญา 20 ปี ผู้กู้ต้องทำประกันและจ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี และค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับเพศ อายุผู้กู้ ทุนประกัน และระยะเวลาเอาประกัน หากวงเงินกู้เกิน 2 ล้านบาทต้องตรวจสุขภาพ และอาจต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม ซึ่งวงเงินความคุ้มครองจะลดลงตามภาระเงินกู้ ทำให้มีความเสี่ยงจากทุนประกันที่ลดลงอาจไม่เพียงพอกับมูลหนี้คงเหลือ
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. มีโครงการช่วยเหลือสมาชิก ช.พ.ค. โดยการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพื่อสมาชิกจะได้นำเงินกู้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในยามจำเป็น จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคารตั้งแต่ปี 2548 โดยโครงการแรกให้กู้ได้ไม่เกิน 200,000 บาท ต่อมา ปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้สำรวจความต้องการของสมาชิก และขอแก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขจากเดิม วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 600,000 บาท และใช้ชื่อ “โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการ 5” เมื่อวงเงินกู้เพิ่มขึ้น สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จึงเพิ่มทางเลือกให้ผู้กู้ทำประกันสินเชื่อตามความสมัครใจ หากไม่ทำประกันฯ เมื่อผู้กู้เสียชีวิตเงิน ช.พ.ค.ที่ทายาทจะได้รับขณะนั้น ประมาณ 700,000 บาท หักค่าทำศพ 200,000 บาทแล้ว จะถูกนำมาชดใช้หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร ซึ่งอาจไม่เพียงพอชำระหนี้ และตกเป็นภาระของทายาท และผู้ค้ำประกันต่อไป หรืออาจไม่มีเงินเหลือให้ทายาท ทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ทายาทได้รับเงิน ช.พ.ค. เมื่อสมาชิกเสียชีวิตแล้ว สำนักงาน สกสค. จึงขอให้ธนาคารออมสิน ประสานบริษัทประกัน เพื่อจัดทำประกันสินเชื่อ ซึ่งบริษัทประกันเสนอ “การทำประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย” โดยมีเงื่อนไขแตกต่างจากแบบเดิมที่กำหนดความคุ้มครองแบบทุนประกันลดลงตามภาระเงินกู้เป็นแบบคุ้มครองเต็มวงเงินกู้ (แบบทุนประกันคงที่) เพื่อลดความเสี่ยงทุนประกันไม่พอกับมูลหนี้คงเหลือ รับประกันทุกรายที่แจ้งความประสงค์ ไม่ต้องตรวจสุขภาพทุกวงเงิน (วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท) คุ้มครองเต็มวงเงิน อายุไม่เกิน 65 ปี คุ้มครองคราวละไม่เกิน 9 ปี เมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดต่ออายุได้ไม่เกินคราวละ 9 ปี และคุ้มครองไม่เกินอายุ 74 ปี โดยคิดค่าเบี้ยประกันจากจำนวนเงินกู้คงเหลือในอัตรา 620.-บาท/ปี/ทุนประกัน 100,000 บาท ซึ่งค่าเบี้ยประกันดังกล่าวได้คำนวณอัตราส่วนลดสำหรับการจ่ายค่าเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปีไว้แล้ว โดยให้ความคุ้มครองภัยจากอุบัติเหตุและสุขภาพ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโรคร้ายแรง คือ ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะโคม่า ภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว เงื่อนไขความคุ้มครอง และอัตราค่าเบี้ยประกัน ได้มีการพิจารณาข้อมูลในการทำประกันลักษณะเดียวกันที่มีอยู่ในท้องตลาด และได้รับการพิจารณาและอนุมัติอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
การชำระค่าเบี้ยประกัน ธนาคารจะติดต่อกับบริษัทประกันผ่านระบบ Online เพื่อยื่นคำขอทำประกัน สำหรับค่าเบี้ยประกันเมื่อผู้กู้จ่ายค่าเบี้ยประกันให้บริษัทประกันเรียบร้อยแล้ว ผู้กู้จะได้รับใบรับชำระเงิน เพื่อเป็นหลักฐานในการชำระค่าเบี้ยประกัน หลังจากนั้น บริษัทประกันจะส่งใบรับรองประกันภัย/ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งสรุปสาระสำคัญของความคุ้มครอง และเอกสารเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ความคุ้มครอง และการเรียกร้องค่าสินไหมให้ผู้กู้ตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ ซึ่งมีใบรับรองประกันฯ บางส่วนส่งกลับคืนมาที่บริษัท การที่ผู้กู้บางรายไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวอาจเนื่องจากย้ายที่อยู่ หรือไม่มีผู้รับ เป็นต้น สำหรับกรมธรรม์ฉบับเต็มบริษัทส่งมอบให้ธนาคาร และสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เนื่องจากเป็นการประกันแบบกลุ่ม หากผู้กู้ต้องการกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเต็มสามารถติดต่อขอรับได้ที่บริษัท หรือสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของบริษัท
ต่อมา ปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. สำรวจความต้องการของสมาชิก และขอแก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขจากเดิม 600,000 บาท เป็น 1,200,000 บาท (โครงการ ช.พ.ค. 6) และเป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท ในปี 2554 (โครงการ ช.พ.ค. 7) โดยนำเงิน ช.พ.ค. และบุคคลค้ำประกัน หรือถ้าบุคคลค้ำประกันไม่พอ ก็สามารถนำประกันสินเชื่อหรือหาหลักทรัพย์อื่นมาค้ำประกันเพิ่มได้ ดังนี้
วงเงินกู้ ผู้กู้ทำประกัน ผู้กู้ไม่ทำประกัน
กู้ไม่เกิน 600,000 บาท 1 คน 2 คน
กู้เกินกว่า 600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท 2 คน 4 คน
กู้เกินกว่า 1.2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท 3 คน 6 คน
กู้เกินกว่า 1.8 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 2.4 ล้านบาท 3 คน 8 คน
กู้เกินกว่า 2.4 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3.0 ล้านบาท 3 คน 10 คน
ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถกู้ได้เพียงโครงการเดียว หากต้องการกู้เพิ่มต้องปิดโครงการเดิมก่อน กรณีที่ผู้กู้ทำประกัน เมื่อผู้กู้ปิดบัญชีในโครงการเดิมและกู้ในโครงการใหม่ ผู้กู้ไม่ต้องเวนคืนกรมธรรม์เดิม แต่ให้ทำประกันเพิ่มเฉพาะวงเงินที่ขอกู้โครงการใหม่ หักด้วยจำนวนทุนประกันที่ทำไว้เดิม เช่น เดิมกู้โครงการ ช.พ.ค 5 วงเงินกู้ 600,000 บาท และผู้กู้ทำประกันทุนประกัน 600,000 บาท (ค่าเบี้ยประกันประมาณ 30,000 กว่าบาท) ต่อมาปิดบัญชีและขอกู้โครงการ ช.พ.ค.6 วงเงินกู้ 1,200,000 บาท หากผู้กู้ประสงค์จะทำประกันภัย ทุนประกัน 1,200,000 บาท (ค่าเบี้ยประกันประมาณ 60,000 กว่าบาท) จะต้องทำทุนประกันเพิ่มเพียง 600,000 บาท และจ่ายค่าเบี้ยประกันเพียงประมาณ 30,000 กว่าบาท สำหรับการต่ออายุกรมธรรม์ จะต่ออายุเมื่อแต่ละกรมธรรม์ครบ 9 ปี ซึ่งจะครบกำหนดไม่พร้อมกัน ทั้งนี้ กรณีผู้กู้ปิดบัญชี และอายุกรมธรรม์ยังไม่ครบ 9 ปี ธนาคารจะจัดทำหนังสือแจ้งเวนคืนกรมธรรม์นำส่งให้บริษัทประกัน และบริษัทประกันจะคืนเงินให้ตามอัตราที่บริษัทกำหนด
อนึ่งการทำประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อตามความสมัครใจ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูง แต่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันได้ตามเงื่อนไข โดยธนาคารไม่ได้บังคับ ปรากฏว่ามีผู้กู้เลือกทำประกันเพื่อประกันสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้กู้ในโครงการเสียชีวิตและได้รับค่าสินไหมจากบริษัทประกันทุกราย รวมทั้งสิ้น 24,740 ราย รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 12,642.98 ล้านบาท หักชำระหนี้ธนาคาร เป็นเงิน 2,558.62 ล้านบาท คืนเงิน ช.พ.ค.ที่นำมาชำระหนี้ 9,311.47 ล้านบาท และคืนทายาท 772.89 ล้านบาท (ทายาทได้รับเงินจากเงิน ช.พ.ค.และค่าสินไหมคืนทายาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 10,084.36 ล้านบาท)
สำหรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้แต่ละโครงการ ธนาคารกำหนดไว้ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขการให้สินเชื่อ และสัญญากู้เงิน ดังนี้ ช.พ.ค. 2-3 ระยะเวลาการกู้ 5 ปี เมื่อสัญญากู้ครบกำหนด หากธนาคารยังไม่ได้รับชำระเงินกู้จะทำการทบทวนหนี้ใหม่ทุก 1 ปี หากผู้กู้มีประวัติการชำระเงินกู้ดีติดต่อกัน และไม่มีการบอกเลิกสัญญา หรือหากธนาคารพิจารณาให้สัญญามีผลบังคับใช้ต่อให้ถือว่าสัญญา มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องปีต่อปีโดยไม่ต้องทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้ ช.พ.ค. 4-6 ระยะเวลาการกู้ 10 ปี เมื่อสัญญากู้เงินครบกำหนด หากธนาคารยังได้รับชำระเงินกู้ ไม่ครบจะทำการทบทวนใหม่ทุก 1 ปี หากผู้กู้มีประวัติการชำระเงินกู้ดีติดต่อกัน และไม่มีการบอกเลิกสัญญากู้เงิน หรือหากธนาคารพิจารณาให้สัญญากู้เงินมีผลบังคับใช้ต่อ ให้ ถือว่าสัญญากู้เงินมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องปีต่อปี โดยไม่ต้องทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เงิน ช.พ.ค. 7 (เกื้อกูลฯ) ระยะเวลาให้กู้ไม่เกิน 30 ปี เมื่อสัญญากู้ครบกำหนด หากธนาคารยังได้รับชำระเงินกู้ไม่ครบ จะทำการทบทวนใหม่ทุกปี หากผู้กู้มีประวัติการชำระเงินกู้ดี และไม่มีการบอกเลิกสัญญา หรือหากธนาคารพิจารณาให้ สัญญามีผลบังคับใช้ต่อ ให้ถือว่าสัญญามีผลบังคับใช้ต่อเนื่องปีต่อปี โดยไม่ต้องทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้
ทั้งนี้ คำนวณเงินงวดผ่อนชำระ 360 งวด (30 ปี) เช่นเดียวกับสินเชื่อเคหะที่มีเงินงวดผ่อนชำระต่ำ ทำให้สามารถกู้เงินในจำนวนที่สูงขึ้นได้ แล้วแต่ความจำเป็นของครู แต่ผู้กู้สามารถผ่อนชำระเงินกู้มากกว่าเงินงวดตามเงื่อนไข หรือนำเงินมาสมทบชำระหนี้ เพื่อให้ชำระหนี้หมดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง โดยกำหนดให้ชำระหนี้ภายในวันสุดท้ายของเดือน หากชำระหนี้ล่าช้าเกินกว่า 62 วัน ธนาคารจึงจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไม่ชำระหนี้ในอัตราร้อยละเท่ากับอัตราดอกเบี้ยปกติบวกเพิ่มร้อยละ 2 ดังนั้น กรณีที่หน่วยงานนำส่งชำระหนี้ล่าช้า แต่ไม่เกิน 62 วัน ธนาคารไม่คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด และเมื่อธนาคารได้รับชำระหนี้แล้วจะออกใบเสร็จรับชำระหนี้แบบกลุ่มหน่วยงานส่งให้สำนักงาน สกสค. หรือ หน่วยจ่ายเงินเดือน และจัดทำ statement ส่งให้ผู้กู้เป็นรายปีทุกปี กรณีที่มีผู้กู้ต้องการ statement ก่อนที่ธนาคารจัดส่งให้ ผู้กู้สามารถแจ้งความประสงค์ที่สาขา เพื่อนำส่งให้ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้