xs
xsm
sm
md
lg

บาทแกว่งกรอบแคบหลังเฟดขึ้น ดบ.-จับตาสงครามการค้า-ท่าที กนง.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีความเห็นต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ช่วง 2.00-2.25% หลังสิ้นสุดการประชุมวันที่ 25-26 กันยายน ตามความคาดหมายของนักลงทุน โดยเฟดระบุเช่นเดียวกันกับการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ทั้งในด้านตลาดแรงงาน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคธุรกิจ ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ของวัฏจักรคุมเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ส่วนสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีโอกาสราว 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2561

สำหรับค่าเงินบาทวานนี้ เปิดตลาดอ่อนค่าเล็กน้อยที่ระดับ 32.47 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคแกว่งตัวแคบๆ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับลดลงสู่ระดับ 3.05% หลังจากไม่สามารถยืนเหนือ 3.10% ได้ช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวผันผวนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเงินบาทนับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย โดยช่วงปิดตลาดวานนี้อยู่ที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากความกังวลกรณีสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ นัยสำคัญของการประชุมรอบล่าสุดในมุมมองของเรา คือ การที่เฟดตัดคำว่า ภาวะนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ออกไปจากแถลงการณ์ บ่งชี้ว่า แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยใกล้จะถึงจุดชะลอตัว ขณะที่เราคาดว่าเฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม มองว่า แนวโน้มขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างจำกัด ท่ามกลางภาวะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้จุดสมดุลมากขึ้น ในทางกลับกัน มีโอกาสสูงขึ้นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มต้นปรับสมดุลนโยบายการเงินก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนปัจจัยชี้นำสำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะสั้นยังอยู่ที่การประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และทิศทางค่าเงินหยวนเป็นสำคัญ

**EIC SCB มอง กนง.ไม่รีบขึ้น ดบ.ตามเฟด**

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB)ระบุการพิจารณานโยบายการเงินของ กนง.ของไทยนั้น จะให้ความสำคัญต่อความเหมาะสมของนโยบายการเงินต่อภาวะเศรษฐกิจไทย มากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น แต่อีไอซี มองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ กนง.ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากไทยมีสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลในระดับสูง และเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่ สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.น่าจะให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่มีความเสี่ยงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่น่าจะทรงตัวในกรอบเป้าหมายได้ในช่วงที่เหลือของปี และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง โดยอีไอซี มองว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปีหน้า หรืออย่างเร็ว คือ ในการประชุมเดือนธันวาคม 2018 อย่างไรก็ตาม วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าวัฏจักรในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น