xs
xsm
sm
md
lg

BAM จ่อปี 61 บุ๊กรายได้ก้อนโต กรมบังคับคดีเคลียร์หนี้ “บางกอกโดม” เสร็จ จับตา CPN พัฒนามิกซ์ยูส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


BAM บริษัทบริหารจัดการหนี้ และเอ็นพีเอ เตรียมบุ๊กรายได้เงินสดเกือบ 5,300 ล้านบาท จากกรมบังคับคดี หลังเคลียร์หนี้ก้อนโตแปลงที่ดินเกือบ 50 ไร่ บริเวณพหลโยธิน ซอย 19/1 เยื้องกับแดนเนรมิตเก่า ที่ปัจจุบันอยู่ในมือของกลุ่มบีทีเอส-จีแลนด์ ส่งผลให้ BAM ปีนี้เติบโตอย่างสูง ขณะที่ห้าแยกลาดพร้าว บิ๊กอสังหาฯ แห่ปักหมุดเกาะแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว รับกำลังซื้อ

ผลจากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายฝั่งหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ปัจจุบัน การก่อสร้างมีความรุดหน้าไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้ามาลงทุนและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ยิ่งบริเวณพื้นที่ห้าแยกลาดพร้าว นับเป็นทำเลที่บริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่เข้ามาปักหมุด เนื่องจากราคาที่ดินในบริเวณนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาก และรูปแบบการพัฒนานอกจากโครงการคอนโดมิเนียมระดับพรีเมียมแล้ว โครงการมิกซ์ยูสเป็นอีกหนึ่งโปรดักต์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการให้คุ้มค่ากับศักยภาพของที่ดินที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก หากมีการเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เป็นเส้นที่วิ่งผ่าเข้าเมืองหลวงพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี)

แหล่งข่าวจากกรมบังคับคดี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมบังคับคดี สามารถประมูลขายทรัพย์แปลงใหญ่บนเนื้อที่เกือบ 50 ไร่ บริเวณพหลโยธิน ซอย 19/1 เยื้องกับแดนเนรมิตเก่า ซึ่งเป็นที่ดินโครงการบางกอกโดม ของบริษัท ยูนิเวสท์ เดิม (ที่ดินแปลงนี้เคยอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของตระกูลบุญดีเจริญ) โดยพบว่า บริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ชนะการประมูลที่ดินแปลงนี้ เมื่อ พ.ย.2558 ด้วยมูลค่า 7,350 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ที่ดินแปลงนี้ติดขัดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีการฟ้องจากฝั่งเจ้าหนี้หลายราย จนล่าสุด กระบวนการชำระหนี้จะได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ที่รับโอนสินทรัพย์ตามกระบวนการแก้ไขหนี้จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง BAM ในฐานะเจ้าหนี้มีหลักประกัน หลังจากเรื่องฟ้องร้องเสร็จสิ้นแล้ว ทาง BAM ได้รับเงินจำนวน 5,300 ล้านบาท จากกรมบังคับคดี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่ากระบวนการจะบันทึกเป็นรายได้ในปีนี้หรือไม่ ต้องรอให้ทางสำนักกฎหมายและบัญชีพิจารณาก่อน ถ้าบันทึกได้ ก็จะทำให้ BAM มีรายได้สูงขึ้นและกำไรเพิ่มขึ้นจากผลการดำเนินงานตามปกติ

ก่อนหน้านี้ นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า ผลการดำเนินในช่วง 8 เดือนปี 2561 มีรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้และจำหน่ายทรัพย์ 10,137 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,755.43 ล้านบาทคิดเป็น 66% ของเป้าหมายทั้งปี แต่เทียบ 8 เดือน มีกำไรสุทธิเกินเป้า 100% โดยคาดว่าทั้งปีจะสามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมาย 16,436 ล้านบาท แยกเป็นจากการปรับโครงสร้างหนี้ (NPL) จำนวน 10,220 ล้านบาท และจากการบริหารทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จำนวน 6,216 ล้านบาท คาดมีกำไรสุทธิปี 61 อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท

อนึ่ง บริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ที่ชนะประมูลที่ดินแปลงดังกล่าวจากกรมบังคับคดี เป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ โดยจัดตั้งบริษัทลูกภายใต้ชื่อ บริษัทยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพร์ส เพื่อร่วมทุนกับบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ จีแลนด์ ร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 50% ตั้งบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด หรือซีพีเอ็น พัทยา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ที่ถือหุ้น 100% ทำสัญญาเพื่อซื้อหุ้นสามัญของ GLAND เบื้องต้น สัดส่วน 50.43% หรือกว่า 3,278 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.10 บาท คิดเป็นเงินกว่า 10,162 ล้านบาท นอกจากนี้ ซีพีเอ็น พัทยา ยังต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลืออีกกว่า 3,221 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 49.57% ในราคา 3.10 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 9,987 ล้านบาทด้วย ทำให้ดีลครั้งนี้ CPN ต้องเตรียมทุนซื้อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท

สำหรับแปลงดังกล่าวที่บีทีเอสประมูล จะมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และหากมีการเปิดใช้บริการแล้ว มูลค่าที่ดินและมูลค่าโครงการจะสูง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถพัฒนาโครงการได้ 10 เท่า ทั้งนี้ ตามข้อมูล กลุ่มบีทีเอส ได้ที่ดินมาในต้นทุนประมาณ 2-3 แสนบาทต่อตารางวา (ตร.ว.) ทั้งนี้ ตามแผนแล้ว บีทีเอส จะมีการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีทั้งคอนโดมิเนียม, อาคารสำนักงาน, โรงแรม และห้างสรรพสินค้า คาดมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท โดยจะมีการดึงกลุ่มพันธมิตรหลายแห่งมาร่วมทุนพัฒนา ทั้งบริษัทที่เป็นพันธมิตรอย่างบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) รวมถึงกลุ่มทุนจากจีนเข้ามา โดยที่ทางบีทีเอส ได้นำที่ดิน 10 ไร่ ช่วงระหว่างกลางก่อสร้างเป็นถนนขนาด 30 เมตร ประมาณ 7-8 ช่องจราจร เชื่อมการเดินทางจากถนนพหลโยธินซอย 19/1 ทะลุถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 200 ล้านบาท.


กำลังโหลดความคิดเห็น