xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) บล.บัวหลวง มองหุ้นไทย Q3/61 ยังแกว่งแรง แนะทยอยเก็บหุ้นรับอานิสงส์ Hi Season

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.บัวหลวง
บล.บัวหลวง ชี้หุ้นไทย Q3 อาจแกว่งกรอบ 1,670-1,750 จุด แต่ทยอยฟื้นตัวชัดเจนในไตรมาส 4 คงเป้าดัชนี SET Index ปลายปีไว้คงเดิมที่ 1,670 จุด ชี้ปัจจัยลบต่างประเทศส่งผลกระทบต่อไทยระยะสั้นเท่านั้น แนะเลี่ยงหุ้นกลุ่มขนส่ง, การบิน, อสังหาฯ, รับเหมา, เช่าซื้อ เหตุทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย และประเทศไทยเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย



นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ว่า พิจารณาภาพรวมการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/2561 ที่ออกมาดี มีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 60 ถึงแม้ว่าอัตรากำไรสุทธิจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายได้และกำไรที่มาจากรายการพิเศษ) เทียบกับไตรมาส 3/2560 และไตรมาส 4/2560 บริษัทที่รายงานผลประกอบการรายได้และกำไรมีอัตราเติบโตโดยรวมอยู่ที่ 30% เท่านั้น ซึ่งในไตรมาส 2/2561 ปรากฏว่า อัตราการเติบโตขึ้นถึง 40% สะท้อนกับภาพรวมของเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/2561 แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะยังคงเคลื่อนไหวแกว่งตัวอยู่ในกรอบจำกัด ที่ 1,670-1,750 จุด โดยยังคงยืนยันเป้าหมายดัชนี SET Index ปลายปีนี้ไว้คงเดิมที่ 1,670 จุด ขณะเดียวกัน ในส่วนของตัวเลขประมาณการอัตรากำไรต่อหุ้น หรือ Earning per Share (EPS) ได้มีการปรับลดลงมา เนื่องจากบางส่วนที่มีรายการพิเศษ ซึ่งเดิมในช่วงต้นปีกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ 110.07 บาทต่อหุ้น แต่หลังจากประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2561 ลงมาแล้ว ได้มีการปรับประมาณการลดลงเหลือ 107.03 บาทต่อหุ้น

“ในมุมมองของนักวิเคราะห์โดยรวมที่ปรับประมาณการ EPS ลง เพราะเกี่ยวเนื่องกับรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มาจากรายการพิเศษซึ่งรับรู้ไปแล้ว ซึ่งต่อไปจะเป็นรายได้และกำไรที่มาจากผลการดำเนินงานปกติ ฉะนั้น มุมมองภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 3/2561 จะมีการแกว่งตัว และค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 4/2561”

ทั้งนี้ มุมมองการลงทุนในไตรมาส 3/2561 เทียบเคียงจากตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐมีการปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภาคการบริโภคดีขึ้น อุตสาหกรรมด้านการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่การลงทุนระหว่างภาครัฐบาล และเอกชน ในนโยบายขนาดใหญ่เริ่มมีการเดินหน้าให้เห็น ฉะนั้น ภาพรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2561 เป็นต้นไป มองว่าจะสดใสขึ้น แม้ว่าในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับตัวอ่อนค่าลงบ้าง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่มองว่าไม่ได้มีสิ่งผิดปกติ เนื่องจากที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าผิดปกติเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ได้กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว ขณะที่ในส่วนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เริ่มอยู่ในระดับคงที่ จากเดิมก่อนหน้านี้ที่มีความผันผวนรุนแรง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ ตอนนี้อยู่ในระดับดีคงที่ แต่ที่หลายฝ่ายยังคงกังวลปัญหาด้านการกีดกันทางการค้าว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

“ในช่วงไตรมาสที่ 3/2561 เป็นช่วงเริ่มเข้าสู่ hi season ผลักดันให้ภาคธุรกิจบางอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ เช่น ปิโตรเคมีและโรงกลั่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนในครึ่งปีแรก และต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีนี้ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุเรือล่มของนักท่องเที่ยวจีนที่จังหวัดภูเก็ตเข้ามา แต่จะมีผลกระทบระยะสั้นๆ เพียง 1 ไตรมาสเท่านั้น ซึ่งหากเข้าสู่ไตรมาส 4 แล้วธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก ผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศเติบโตดีขึ้นด้วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ตลาดสามารถประคองตัวเองได้”

ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยพิจารณาจาก 2 มิติ คือ เศรษฐกิจของประเทศไทยแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน เทียบระหว่างปัจจุบันกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่มีการปรับโครงสร้างจากระบบประเทศเกษตรกรรม เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น เน้นสัดส่วนการส่งออกมากขึ้น ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องแลกมา คือ การนำเข้าเครื่องจักรการผลิตเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ (ซึ่งหากมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้เข้ามา ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศก็จะติดลบมากขึ้น ผลักดันให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อเสริมสภาพคล่องภายในประเทศ) ขณะที่ปัจจุบัน สถานะทางเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น มีบัญชีเดินสะพัด และดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุลจากอัตราปกติอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เงินคงคลังสำรองอยู่ในสถานะมั่นคง เพราะฉะนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนักเหมือนอย่างเช่นในอดีต

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีการบริหารจัดการเงินในประเทศที่เป็นระบบมากขึ้น เทียบกับอดีตที่ผ่านมา ทำให้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนลดน้อยลง

ในส่วนของปัจจัยลบต่างประเทศที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นไทย เช่น ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ที่มีปัญหาการเงินอย่างหนักจนต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF ส่งผลให้มีเม็ดเงินใหลออกจากตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก เพราะนักลงทุนกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียด้วย ขณะที่ในปัจจุบัน เช่น กรณีวิกฤตเศรษฐกิจในตุรกีที่เกิดขึ้น มองว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้าลงทุนใน Emerging Markets กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ไม่มีความแข็งแรงมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพการลงทุนปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สภาพคล่องของเม็ดเงินภายในประเทศสามารถสนับสนุนตลาดทุนในประเทศของตนเองได้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก

“พิจารณาจากสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย เม็ดเงินภายในประเทศสามารถซึมซับแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศได้มาก ฉะนั้น ความผันผวนของตลาดหุ้นก็ลดลง และหากเทียบตลาดหุ้นเอเซียกับทางฟากละตินอเมริกา ซึ่งยังมีจุดอ่อนในเรื่องตราสารหนี้ เศรษฐกิจยังไม่แข็งแรงเท่ากับเศรษฐกิจในเอเซีย เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน ที่มีการพัฒนาตนเองขึ้นมามีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียน มีความเป็นสมดุลมากขึ้น ทั้งการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตุรกี คาดว่าจะกระทบต่อกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมากกว่า ซึ่งมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) จะให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างเต็มที่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะกระทบต่อประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป

“เยอรมนีคงไม่นิ่งเฉยต่อวิกฤตของตุรกีที่เกิดขึ้น อาจจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในกองทุนเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจตุรกีอย่างเต็มที่ และหากมองในแง่ดี ถือว่าผลกระทบตรงนี้อยู่ในกรอบที่จำกัด”

ในด้านปัจจัยลบของความตึงเครียดเข้ามากดดันตลาดหุ้นจากการประกาศสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งมองว่าขณะนี้ยังไม่กระทบต่อภาพรวมการลงทุนและการส่งออกของไทยมากนัก โดยพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกของจีนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าสัดส่วนโดยรวมเฉลี่ยยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะมีขนาดเล็ก แต่หากมีการกดดันมากขึ้นถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศต่อปี จะกระทบต่อการขาดดุลของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเฉลี่ยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าต่อประเทศจีนอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

“มุมมองของนักลงทุนไทย อยากให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี มีการเจรจากันได้ เช่น จีนยอมสั่งซื้อหรือเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ เข้ามาขายในจีนเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ประเด็นที่ถือว่าหาข้อยุติได้ยากที่สุด คือ ไม่ใช่เรื่องของสินค้า แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนถ่ายสิทธิการเป็นเจ้าของ ซึ่งจีนพยายามที่จะพัฒนาศักยภาพในด้านการเป็นผู้นำเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯ พยายามที่จะปิดกั้นช่องทางในการเข้าซื้อกิจการษัทต่างๆในสหรัฐฯ เพราะกลัวว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จีนจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองได้เทียบชั้นเท่ากับสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นศักดิ์ศรีที่ยอมกันไม่ได้ ทำให้เจรจาหาข้อยุติไม่ได้”

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าจากจีนสูงขึ้นถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็น Supply Chain โดยประเทศไทยมีสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายยังประเทศจีนเฉลี่ยปีละประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศทั้งหมด (เฉลี่ยการส่งออกของไทยต่อเดือนที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับส่งออกไปยังประเทศจีนเพียง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ทำให้จีนอาจกระจายสินค้ามาจำหน่ายยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเดียวกันกับที่เป็นสินค้าออกของจีนอาจจะต้องลำบากขึ้น

“ในกำแพงภาษี 5 หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐ ที่จีนส่งออกจะไม่กระทบต่อไทย แต่ถ้าหากมีการเพิ่มกำแพงภาษีสูงขึ้นในระดับ 2-5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มที่คาดว่าจะกระทบ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค จะได้รับผลกระทบทั้งหมด กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้า กลุ่มผลิตและแปรรูปอาหาร”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้จะสังเกตเห็นได้ว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ได้มีการปรับสัดส่วนรายได้เน้นการส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย, พม่า, เวียดนาม เนื่องจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน มีความพร้อมทั้งด้านแรงงาน และการเปิดรับการลงทุนใหม่ๆ แตกต่างจากประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ประชากรในวัยทำงานที่ปรับตัวลดลง การลงทุนภายในประเทศใหม่ๆ จึงปรับตัวลดลง แต่จะเป็นไปในรูปแบบของธุรกิจซ่อมบำรุงมากกว่า

“รัฐบาลพยายามผลักดันการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor หรือ EEC ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงของการค้า และการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปได้ ซึ่งที่สุดแล้วต้องดูว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนระดับโลกมีความสนใจมากน้อยแค่ไหน”

ขณะที่ปัจจัยที่หลายคนจับตามอง คือ การประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล โดยได้เริ่มมีการปลดล็อกให้ทางพรรคการเมืองต่างๆ ได้จัดกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีในการช่วยให้บรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลายมากขึ้น

“เงื่อนไขของกลุ่มนักลงทุนบางประเทศ หรือบางกองทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยก็สามารถฟื้นตัวขึ้นได้จากนักลงทุนในประเทศ บริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรมากขึ้น ขณะเดียวกัน แม้จะประกาศการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่บริษัทจดทะเบียนมีรายได้และกำไรลดลง อย่างไรต่างชาติก็ไม่เข้ามาลงทุน”

ในส่วนของหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงนักลงทุนควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้นกลุ่มขนส่ง การบิน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ค่อยๆ ปรับตัวขึ้น โดยที่ผ่านมา ราคาค่าโดยสารและราคาน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มอุตฯ การบินแย่กว่าที่คาดไว้ ส่วนกลุ่มที่สอง ได้แก่ หุ้นกลุ่มอสังหาฯ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเข้ามากดดันธุรกิจกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ปรับตัวอ่อนค่าลง ส่วนกลุ่มที่สาม ได้แก่ กลุ่มเช่าซื้อ ในสัญญาระยะยาวที่เช่าซื้อลูกค้าจ่ายค่าเช่าเท่าเดิม แต่บริษัทผู้ประกอบการต้องแรกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนของรายได้และส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนลดน้อยลง ขณะที่กลุ่มที่สี่ ที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่จะได้รับผลกระทบจากยอดขายของกลุ่มอสังหาฯ ลดลง ก็จะมีงานลดลงตามไปด้วย เช่น งานในมือที่น้อยลง ซึ่งควรหลีกเลี่ยงในการเข้าไปลงทุน

ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสดใสจากการเข้าสู่ช่วง Hi Season ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มอุปโภคบริโภค, กลุ่มปิโตรเคมี, โรงกลั่น, สถาบันการเงิน, กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการบริโภค น่าจะเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดี

ขณะที่มุมมองต่ออุตสาหกรรมโบรกเกอร์ในปีนี้ นายชัยพร เปิดเผยว่า เป็นปีที่มีการแข่งขันกันสูง แม้ว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 4 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การแข่งขันกันด้านค่าคอมมิชชันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งสะท้อนออกมาในงบผลประกอบการไตรมาส 2/2561 และครึ่งปีแรกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่

“การเข้ามาของ Fintech และ Online Brokers ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบธุรกิจของโบรกฯ สุ่มเสี่ยง อีกทั้งผู้แนะนำการลงทุน หรือ Investor Consultant (IC) มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการที่ผู้แนะนำการลงทุนเมื่อเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้แล้วไม่สามารถทำคอมมิชชันได้เพียงพอต่อรายได้ หรือตามเพดานที่บริษัทกำหนดไว้ได้ ซึ่งเมื่อรายได้จากคอมมิชชันที่เข้ามาในบริษัทลดน้อยลง จึงจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนคนลง โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มีการปรับลดลงของผู้แนะนำการลงทุนมากกว่า 40%”


กำลังโหลดความคิดเห็น