นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และในฐานะรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้รายงานถึงผลสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2 ปี 2561 และแนวโน้มตลาดในครึ่งหลังของปี 2561 โดยระบุว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการที่จะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะเติบโตประมาณร้อยละ 8 และไปจนถึงร้อยละ 10 ต้นๆ โดยตัวเลขประมาณการหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย (ทั่วประเทศ) 3.4-3.5 แสนหน่วย โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีหน่วยโอนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60-70 หรือประมาณ 1.7-1.8 แสนหน่วย คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.2 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย (ทั่วประเทศ) 7.2-7.9 แสนล้านบาท กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 60 มูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.5
แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ (ทั่วประเทศ) คาดทั้งปีจะมีมูลค่า 6.92 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 10 โดยหากเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตัวเลขสินเชื่อจะอยู่ที่ 3.67 แสนล้านบาท ซึ่งสัดส่วนจะมากกว่าภูมิภาคเกินร้อยละ 50 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อโตมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงมีการปรับโครงสร้างสินเชื่อ (รีไฟแนนซ์) ไปยังสถาบันการเงินอื่นๆเยอะ ขณะเดียวกัน การแข่งขันของภาคเอกชนในการให้ลูกค้ากู้ โดยนำหลักประกันที่อยู่อาศัยมาขอสินเชื่อ ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวจะเข้ามาอยู่ในรายการปล่อยสินเชื่อ
“มองภาพรวมแล้ว ประเภทของการโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศสัดส่วนร้อยละ 65 จะเป็นแนวราบ และร้อยละ 35 จะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม แต่หากพิจารณาในไส้ในแล้ว ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะโฟกัสตลาดในกรุงเทพฯ เป็นหลัก มูลค่าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการพัฒนาโครงการรูปแบบคอนโดมิเนียมจะมีราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนของราคาที่ดิน หรือหากเป็นโครงการแนวราบ จะเป็นตลาดบ้านแพง แต่โดยรวมแล้ว อสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับสถานการณ์เรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เริ่มมีสัญญาณของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และอาจนำไปสู่การปรับดอกเบี้ยนโยบายได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาเรื่องของส่วนของของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ และต่างประเทศ แต่คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศจะไม่กระทบ ซึ่งคิดว่าจะเห็นการปรับขึ้นในไตรมาส 4 ร้อยละ 0.25 โดยที่ธนาคารของรัฐคงไม่ปรับดอกเบี้ย ส่วนธนาคารเอกชนอาจปรับขึ้นได้ไม่มากนัก
นโยบายบ้านหลังละล้านอาจมีผลในปี 62
นายวิชัย กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลโดยให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในการสนับสนุนที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านล้านหลัง โดยปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อยในการขอสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น ผลของมาตรการยังไม่มีต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะเริ่มในช่วงไตรมาส 4 ดังนั้น ผลจะไปบ่งชี้ต่อภาพรวมในปี 2562
โดยตัวเลขเบื้องต้นของที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่าล้านบาทจากข้อมูลในครึ่งหลังของปี 2560 เป็นตัวเลขที่ไม่ครอบคลุมร้อยละ 100 และไม่นับรวมกับโครงการของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และไม่ครอบคลุมโครงการที่มีหน่วยขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย พบว่าทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 6,000-7,000 หน่วย แนวราบประมาณ 900 หน่วย และคอนโดมิเนียมกว่า 5,000 หน่วย ในส่วนนี้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณร้อยละ 69 หรือ 3,800 หน่วย แต่ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยในระดับราคา 1.5 ล้านบาท มีปะมาณ 27,000 หน่วย แนวราบ 8,400 หน่วย และคอนโดฯ อยู่ที่ 18,600 หน่วย
“ตัวเลขนี้ยังต้องมองที่ทรัพย์สินรอการขาย หรือเอ็นพีเอ ซึ่งเราคาดว่าจะปล่อยได้เร็ว รวมถึงมีทรัพย์ของ BAM และ SAM นอกจากนี้ ธอส.ยังมีโปรแกรมให้ลูกค้าผ่อนยาว 60 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่จะนำเงินไปปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้”
เจาะลึกข้อมูลสถานการณ์ตลาดไตรมาส 2
ในไตรมาส 2 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในด้านอุปสงค์ (ดีมานด์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ดังจะเห็นได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วย และจำนวนมูลค่า และสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 เช่นกัน โดยมาจากการโอนอาคารชุดเป็นหลัก ขณะที่ในด้านอุปทาน (ซัปพลาย) โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่และที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน ปรับตัวลดลงพอสมควรเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 เป็นผลจากปริมาณอุปทานที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดที่มีการเปิดตัวใหม่ และมีการสร้างเสร็จจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 มีอยู่ในปริมาณมาก โดยพบว่ามีสถิติสูงที่สุดในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวโดยการชะลอการเพิ่มปริมาณอุปทานในตลาด เพื่อระบายอุปทานในมือออกไป ทั้งในส่วนที่เป็นหน่วยรอการขาย (Stock) และหน่วยที่รอการโอน (Backlog)
สำหรับในภาพรวมครึ่งแรกปี 2561 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 เป็นสัญญาณว่า ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 โดยเป็นผลจากปัจจัยบวกที่สำคัญจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง
ส่วนภาพรวมครึ่งหลังปี 2561 คาดว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งหลังปี 61 ด้านอุปทานโครงการเปิดตัวใหม่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2561 ที่มีการชะลอตัวลง ส่วนอุปทานที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในช่วงครึ่งหลังปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2561
ขณะที่ด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย คาดว่าจะลดลงทั้งจำนวนหน่วย และมูลค่า โดยลดลงร้อยละ -8.3 และ -16.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 และลดลงร้อยละ -6.0 และ -21.0 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2561คาดว่าจะส่งผลให้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยของปี 2561 ด้านอุปทานโครงการเปิดใหม่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วย และมูลค่า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 และ 7.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2560
แจกแจงสภาพตลาด-ทำเลศักยภาพ
โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 61 มีจำนวนประมาณ 57 โครงการ มีหน่วยในผังรวม 15,907 หน่วย และมีมูลค่าโครงการรวม 61,354 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนโครงการ จำหนวนหน่วย และมูลค่าโครงการ โดยจำนวนโครงการลดลงร้อยละ -32.9 จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -44.9 และมูลค่าโครงการลดลงร้อยละ 43.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560
เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ พบว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561โครงการบ้านจัดสรรมีการเปิดขายใหม่จำนวนประมาณ 37โครงการ 6,512 หน่วยมีมูลค่าโครงการรวม 26,196ล้านบาท ซึ่งลดลงทั้งจำนวนโครงการ จำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการ โดยลดลงร้อยละ -27.5 -46.3 และ -43.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ส่วนโครงการอาคารชุดมีการเปิดขายใหม่จำนวน 20 โครงการ 9,395 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 35,158 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ทั้งจำนวนโครงการ จำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการร้อยละ -41.2 -43.8 และ -43.9 ตามลำดับ
ภาพรวมในช่วงครึ่งแรกปี 2561 เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ พบว่า โครงการบ้านจัดสรรมีการเปิดขายใหม่จำนวนประมาณ 91 โครงการ 15,274 หน่วย มีมูลค่าโครงการรวม 67,832 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนโครงการ จำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการ โดยลดลงร้อยละ -25.4 -38.6 และ -25.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ส่วนโครงการอาคารชุดมีการเปิดขายใหม่จำนวน 56 โครงการ 25,252 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 100,491 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ทั้งจำนวนโครงการ จำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการร้อยละ -15.2 -17.0 และ -15.5 ตามลำดับ
ในด้านประเภทและราคาขายโครงการบ้านจัดสรรในช่วงครึ่งแรกปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.9 เป็นทาวน์เฮาส์อยู่ในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท รองลงมา ร้อยละ 24.7 เป็นบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท สำหรับบ้านแฝดเปิดขายร้อยละ 6.9 ส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท ส่วนอาคารพาณิชย์พักอาศัยเปิดขายใหม่เพียงร้อยละ 1.5 โดยเปิดขายในระดับราคา 7.51-10.00 ล้านบาทมากที่สุด
ทำเลของโครงการบ้านจัดสรรที่เปิดขายใหม่ มากที่สุด 5 อันดับแรก ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงครึ่งแรกปี 2561 ได้แก่ 1) จังหวัดสมุทรปราการ 2) ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ 3) บางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย 4) บางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่ และ 5) เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก โดยใน 5 ทำเลนี้ ทาวน์เฮาส์เปิดขายใหม่มากที่สุด และส่วนใหญ่เปิดขายอยู่ในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ยกเว้นทำเลบางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย ซึ่งเป็นทำเลที่แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการแล้ว ทาวน์เฮาส์จะเปิดขายใหม่ในระดับราคาที่สูงกว่าทำเลอื่น คือ 3.01-5.00 ล้านบาทในสัดส่วนมากที่สุด ส่วนทำเลบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่ ซึ่งเป็นทำเลที่มีแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่ยังไม่ก่อสร้างและมีแผนจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ จึงส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในทำเลนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะขายในระดับราคา 5.01-7.00 ล้านบาทมากที่สุด
ห้องชุดสร้างเสร็จพร้อมโอน
ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 มีจำนวนหน่วย 23,939 หน่วย ลดลงร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 28,993 หน่วย และลดลงร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 35,270 หน่วย
ประเภทที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2561 เป็นห้องชุดมากที่สุดมีจำนวน 9,063 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 37.9 ของหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด รองลงมา เป็นบ้านเดี่ยวมีจำนวน 8,173 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 34.1 ทาวน์เฮาส์มีจำนวน 5,592 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 23.4 อาคารพาณิชย์พักอาศัยมีจำนวน 861 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 3.6 และบ้านแฝดมีจำนวน 250 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 1.0 ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาในช่วงครึ่งแรกปี 2561 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่มีจำนวนหน่วย 59,209 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 52,737 หน่วย โดยที่เพิ่มขึ้นมาจากประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ส่วนที่อยู่อาศัยอาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8
การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 2 มีจำนวน 49,862 หน่วย มีมูลค่า 145,313 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 39,597 หน่วย และมูลค่า 103,560 ล้านบาท
ในไตรมาส 2 ปี 2561 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด มีจำนวน 24,989 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 50.1 ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด รองลงมา เป็นทาวน์เฮาส์ จำนวน 14,054 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 28.2 บ้านเดี่ยวมีการโอนจำนวน 6,759 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 13.6 อาคารพาณิชย์พักอาศัยมีการโอนจำนวน 2,316 หน่วย มีสัดส่วนร้อยละ 4.6 และบ้านแฝดมีการโอนจำนวน 1,744 หน่วยมีสัดส่วนร้อยละ 3.5
สำหรับการประมาณการการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่ (หรือบ้านที่โอนจากนิติบุคคล) มีจำนวน 31,586 หน่วย และโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง (บ้านที่โอนจากบุคคลธรรมดา) มีจำนวน 18,276 หน่วย ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่ต่อบ้านมือสองในไตรมาส 2 ปี 2561 เท่ากับ 63: 37
การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ครึ่งแรกปี 2561 มีจำนวน 91,966 หน่วย และมีมูลค่า 256,780 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.0 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมียอดโอนกรรมสิทธิ์ 69,172 หน่วย และมีมูลค่า 183,500 ล้านบาท
ในช่วงครึ่งแรกปี 2561 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด มีจำนวน 44,759 หน่วย คิดเป็นร้อยละร้อยละ 48.7 ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด รองลงมา เป็นทาวน์เฮาส์จำนวน 26,343 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 28.6 บ้านเดี่ยวมีการโอนจำนวน 12,901หน่วย คิดเป็นร้อยละ 14.0 อาคารพาณิชย์พักอาศัยมีการโอนจำนวน 4,633 หน่วย มีสัดส่วนร้อยละ 5.0 และบ้านแฝดมีการโอนจำนวน 3,330 หน่วยมีสัดส่วนร้อยละ 3.6
สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งระบบทั่วประเทศ
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศ มีมูลค่า 172,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 147,491 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งมีมูลค่า 153,061 ล้านบาท
สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศในครึ่งแรกปี 2561 มีมูลค่า 325,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 263,279 ล้านบาท
สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั้งระบบทั่วประเทศ มีมูลค่าประมาณ 3,644,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 3,388,326 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งมีมูลค่า 3,569,243 ล้านบาท
ราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ดัชนีราคาโครงการที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2560 (YoY) และไตรมาส 1 ปี 2561 (QoQ) ทุกประเภท โดยดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2 จังหวัด (นนทบุรี และสมุทรปราการ) ในไตรมาส 2 ปี 2561 มีค่าดัชนีเท่ากับ 139.1 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 126.8 จุด และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 ร้อยละ 4.5
ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ในไตรมาส 2 ปี 2561 มีค่าดัชนีเท่ากับ 122.5 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 116.8 จุด และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 ร้อยละ 1.2 เมื่อแยกพิจารณาแต่ละประเภท พบว่าดัชนีราคาบ้านเดี่ยว มีค่าดัชนีเท่ากับ 120.9 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 115.1 จุด และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 ร้อยละ 1.3
ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ มีค่าดัชนีเท่ากับ 124.2 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 118.8 จุด และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 ร้อยละ 1.0.