xs
xsm
sm
md
lg

เปิดยุทธการสูบ IFEC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การกอบกู้วิกฤตใน บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ IFEC หากอืดอาดล่าช้าต่อไป อาจทำให้กิจการแห่งนี้เหลือแต่ซาก



เพราะอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท แม้จะถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ จนต้องพ้นออกจากตำแหน่ง แต่คำสั่งไม่ได้ครอบคลุมลูกของ IFEC


นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตกรรมการและผู้บริหาร ซึ่งถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษในความผิดทุจริต และนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IFEC ซึ่งถูกกล่าวโทษความผิดการใช้มูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นหรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง ซึ่งควรพ้นออกจาก IFEC และบริษัทในเครือไปแล้ว


แต่ปัจจุบันคนทั้งสอง กลับยังคุมอำนาจการบริหารงานบริษัทในเครือ โดยล่าสุดได้สั่งปลดกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก IFEC ออกจากตำแหน่ง


คำถามคือ นายวิชัย และ นายศุภนันท์ ใช้อำนาจใด สั่งปลดกรรมการบริษัทลูก ซึ่ง IFEC ถือหุ้นอยู่ 80%


และเมื่อถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแล้ว ทำไมยังเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทลูกได้ ทั้งที่บุคคลทั้งสอง ควรถูกตะเพิดออกจากกลุ่มบริษัท IFEC


บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้เกิดวิกฤตตั้งแต่ปลายปี 2560 เนื่องจากมีปัญหาฐานะทางการเงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ไม่นำส่งงบการเงินตามกำหนด จนหุ้นถูกพักการซื้อขาย และทำให้การดำเนินงานอยู่ภายใต้แดนสนธยามาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี


นายวิชัยและนายไพโรจน์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ IFEC ต้องล่มสลาย ผู้ถือหุ้นกว่า 30,000 คน ต้องได้รับความเสียหาย

และการบริหารงาน ถูกตั้งข้อสงสัยในความไม่โปร่งใส โดยมีข่าวเกี่ยวกับการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเป็นระยะ


ผู้ถือหุ้นรวมตัวกันเรียกร้องให้กรรมการและฝ่ายบริหาร จัดการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกกรรมการใหม่ ก่อนเริ่มต้นขบวนการแก้ปัญหา ฟื้นฟูความเสียหาย เพื่อเยียวยาผู้ถือหุ้น แต่ถูกฝ่ายบริหารเตะถ่วงมาตลอด


แม้ ก.ล.ต.จะสั่งการ แต่ฝ่ายบริหารบริษัท ฯ แข็งขืนมาตลอด จนกระทั่งผู้ถือหุ้นต้องรวมตัว เข้าชื่อกันเกิน 10 % ของทุนจดทะเบียน จัดประชุมผู้ถือหุ้นตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชน มาตรา 100 และอยู่ระหว่างกำหนดวันประชุม


การแก้ปัญหา IFEC กำลังราบรื่น แต่กลุ่มนายวิชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งที่บริษัทมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 29 ตุลาคมนี้


ไม่รู้ว่า ศาลจะมีคำวินิจฉัยคำร้องในแนวทางใด แต่การแก้ปัญหา IFEC อาจต้องยืดเยื้อต่อไป ผู้ถือหุ้นอาจได้รับความเสียหายมากขึ้น เพราะแม้นายวิชัยและนายศุภนันท์จะไม่มีอำนาจใดใน IFEC

แต่เข้าไปกุมอำนาจในบริษัทลูกแทน และพฤติการณ์ของทั้งคู่ก็ไม่น่าไว้วางใจ


สิ่งที่ผู้ถือหุ้น IFEC กลัวคือ การจำหน่ายถ่ายโอนทรัพย์สิน การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน และก่อนที่คณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ามายึดอำนาจคือจากกลุ่มนายวิชัย

IFEC อาจเหลือเพียงแต่ซาก ทรัพย์สินอาจถูกสูบออกไปจนเกือบเกลี้ยง จนสายเกินไปที่จะฟื้นฟูบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

การขึ้นบัญชีดำกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หรือแม้แต่บริษัทหลักทรัพย์ แม้จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังมีช่องโหว่ เพราะคนประเภทศรีธนญชัย และไม่ละอายสายตาสาธารณชน กลับไปฝังตัวในบริษัทลูกแทน


ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์หลายคน แม้จะถูกคำสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหาร แต่ก็ยังทำงานสังกัดโบรกเกอร์เดิมอยู่ตามปกติ โดยหลบเลี่ยงทำงานตำแหน่งอื่นเท่านั้น


เช่นเดียวกับนายวิชัยและนายศุภนันท์ เมื่อเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ได้ แต่ไม่มีข้อห้ามการเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทลูก จึงอาศัยบริษัทลูกฝังตัวหาผลประโยชน์อยู่ต่อไป


อาชญากรมักล้ำหน้ากว่ากฎหมาย กรณีนายวิชัยและนายศุภนันท์ ก็แทบไม่แตกต่างกัน เพราะสบช่องโหว่ของกฎระเบียบ แฝงตัวหากินใน IFEC ต่อไป และไม่รู้ว่า จะสร้างความเสียหายซ้ำเติมผู้ถือหุ้นอีกขนาดไหน

“วิชัย -ศุภนันท์” สร้างเรื่องปวดหัวให้ผู้ถือหุ้น IFEC กว่า 30,000 รายอีกแล้ว ก.ล.ต. ต้องลงมาตามแก้อีกตามเคย

จะปิดช่องโหว่บัญชีดำ กรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอย่างไร ป้องกันคนที่ไม่มีความละอาย ถูกไล่จากบริษัทแม่แล้ว ยังย่องมาหากินในบริษัทลูกอีก

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )


กำลังโหลดความคิดเห็น