หลังจากถูกแขวนป้าย พักการซื้อขายตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินให้ตลาดหลักทรัพย์ตามระยะเวลาที่กำหนด หุ้นบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC กำลังเริ่มต้นนับหนึ่ง เพื่อกลับเข้ามาซื้อขายอีกครั้ง
ส่วนแผนการเพิ่มทุนจำนวน 231,5901.50 ล้านหุ้น ที่ล้มคว่ำ ทั้งที่ผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งชำระค่าหุ้นมาแล้ว เพราะกระทรวงพาณิชย์ ไม่รับจดทะเบียนเพิ่มทุน อยู่ระหว่างเตรียมการเรียกชำระค่าหุ้นกันใหม่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของ IEC และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับจดทะเบียนกรรมการใหม่ การขอลดทุนและเพิ่มทุน โดยให้นายทะเบียนบริษัทมหาชน รับจดทะเบียน ซึ่งฝ่ายบริหารดำเนินการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมเพิ่มกรรมการใหม่อีก 6 คน รวมเป็น 11 คน
ขั้นตอนต่อไปคือ การเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 231,561.50 ล้านหุ้น ซึ่งเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1.25 สตางค์ โดยการเรียกชำระครั้งก่อนกำหนดระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายน 2559 นั้น มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อหุ้นใหม่จำนวนทั้งสิ้น 136,224.71 ล้านหุ้น ระดมเงินได้ทั้งหมด 1,702.80 ล้านบาท
แต่ผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม ร้องเรียนนายทะเบียนบริษัทมหาชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คัดค้านการเพิ่มทุน โดยระบุว่าราคาเสนอขายไม่เป็นธรรม เป็นราคาที่ต่ำเกินไป และทำให้นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนเพิ่มทุน แผนการเพิ่มทุนจึงล้มคว่ำ จน IEC ต้องคืนเงินทั้งหมดให้ผู้ถือหุ้น พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1.40 % ต่อปี
ต่อมาฝ่ายบริหาร IEC ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จนสามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ และเตรียมเรียกชำระค่าหุ้นรอบสอง ก่อนจะเร่งจัดทำงบการเงินส่งตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำหุ้นกลับมาซื้อขายอีกครั้ง
ปัญหาใน IEC กำลังกลับเข้าที่เข้าทาง แต่สิ่งที่จะต้องทวงถามสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คือ คำสั่งให้นาย ภูริช นานาวราทร และ พลโท วัฒนา เพ็ชรมงคล 2 กรรมการ IEC ชี้แจงกรณีที่ไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนของกิจการ เข้าข่ายไม่ปฎิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั้น เรื่องไปถึงไหนแล้ว
เพราะคำสั่งออกมาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน2560 แต่กรรมการ IEC ทั้ง 2 คนเพิกเฉย ไม่มีคำชี้แจงใด ๆ ออกมา ซึ่งหาก ก.ล.ต.เพิกเฉยตาม เช่นเดียวกับการเพิกเฉยคำสั่ง นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ IFEC จะสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของ ก.ล.ต.ไม่อยู่ในสายตาของกรรมการบริษัทจดทะเบียน
สามารถดื้อแพ่งในคำสั่ง โดยที่ ก.ล.ต.ทำอะไรไม่ได้ และหาก ก.ล.ต. ไม่มีบทลงโทษกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ดื้อแพ่งคำสั่ง จะเป็นบรรทัดฐานที่กรรมการบริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ ปฏิบัติตาม และทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของ IEC คือ การแก้ปัญหาด้านฐานะการเงิน ประกอบด้วยการเพิ่มทุน การจัดทำงบการเงิน และนำหุ้นกลับมาซื้อขายครั้งใหม่ ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 25,244 รายตั้งตารอคอยกันอยู่
ก่อนที่หุ้น IEC จะกลับมาซื้อขาย ผู้ถือหุ้นทุกคนต้องตัดสินใจว่า จะใส่เงินเพิ่มทุนหรือไม่ การควักเงินก้อนใหม่ลงไปแล้ว ผลตอบแทนจะคุ้มหรือไม่
และจะฝากความหวังกับกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเข้ามาถือหุ้นใหญ่และกุมอำนาจบริหาร IEC ได้หรือไม่ จะฟื้นฟูบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ให้กลับมาดำเนินงานตามปกติได้หรือไม่
IEC แทบย่อยยับเพราะกลุ่ม นายภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตผู้บริหารที่ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษพร้อมพวกรวม 25 คน ในความผิดทุจริตเงินกว่า200 ล้านบาท โดยกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจเข้ามาแบกซากของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้
การฟื้นฟู IEC ต้องมีต้นทุน เพราะบริษัทมีปัญหาด้านฐานะการเงิน และการเพิ่มทุนเป็นทางเลือกเดียว
เพียงแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะวางใจกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ ที่เข้ามากุมชะตากรรมบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้หรือไม่เท่านั้น
ถ้าไว้วางใจก็ใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา ถ้ายังไม่วางใจ ขอรอดูใจกันไปก่อน คงต้องสละสิทธิจองซื้อ และหันมาแก้ปัญหาหุ้นเก่าที่ติดมืออยู่ก็พอ
(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )