xs
xsm
sm
md
lg

แชร์ลูกโซ่ ภัยร้ายทางเศรษฐกิจจะนานแค่ไหนก็จะยังมีต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เรามักจะได้ยินข่าวการจับกุมมิจฉาชีพที่เข้าค่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ทุกปี บางปีจะดังเป็นพิเศษหน่อย หากผู้เสียหายมีเป็นจำนวนมากหรือมีคนดังในสังคมตกเป็นผู้เสียหายอยู่ด้วย ถ้าย้อนอดีตแชร์ลูกโซ่ดังๆ ก็จะมีแชร์แม่ชม้อย (ชวนลงทุนรถขนน้ำมัน) แชร์ชาเตอร์ (ชวนลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยน) แชร์บลิสเซอร์ (ชวนลงทุนการท่องเที่ยวโดยสมัครเป็นสมาชิก) แชร์ยูฟัน (ชวนลงทุนในสกุลเงินที่ตั้งขึ้นใหม่) หรือแม้แต่ OD Capital (ชวนระดมทุนลงทุนในบริษัทต่างประเทศเพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ)และล่าสุด แชร์ชวนลงทุนในดราก้อน คอยน์ โดยดาราดัง โดยเกี่ยวพันกับเจ้าพ่อใหญ่ในวงการตลาดหุ้น ผู้ทรงอิทธิพลคนมีสีและ บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้อยแชร์ ฯ ที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยคงจะยังเจอปัญหาเรื่องแชร์ลูกโซ่ไปอีกเรื่อย ๆ ในอนาคต แม้วิธีการหรือสินค้าที่ถูกใช้อ้างอิงในการสร้างแชร์ลูกโซ่เหล่านี้จะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่หลักการของแชร์ลูกโซ่นั้นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน

แชร์ลูกโซ่ คือ

การระดมทุนด้วยวิธีทางต่างๆ โดยการใช้ผลตอบแทนสูงเพื่อมาจูงใจเหยื่อ ซึ่งผลตอบแทนที่จริงๆ แล้วมาจากเงินที่ระดมทุนของสมาชิกใหม่นำมาจ่ายให้กับสมาชิกเก่า

หลักการของแชร์ลูกโซ่

ใช้ผลตอบแทนสูงล่อเหยื่อ - จริงอยู่ที่การลงทุนบางชนิดอาจให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาไม่นาน แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนแฝงอยู่ด้วย เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอัตราทดสูงอย่างตราสารอนุพันธ์ สกุลเงินต่างประเทศ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่ มิจฉาชีพจะจูงใจเหยื่อด้วยผลตอบแทนที่สูงแบบไร้ความเสี่ยงหรือความเสี่ยงต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับผลตอบแทนสูง ซึ่งผลตอบแทนที่ว่ามีตั้งแต่ระดับ 2 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งคนที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อควรพิจารณาว่า หากมีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงขนาดนั้น แต่ความเสี่ยงต่ำมาก ทำไมคนที่ชักชวน หรือมิจฉาชีพไม่เก็บไว้ทำเองในวงจำกัด ถ้าของมันดีขนาดนั้น จะเผยแพร่ให้คนทั่วไปทราบทำไม ถ้ามันดีขนาดนั้น ทำไมไม่ไประดมทุนจากบริษัทที่มีทุนมากมายมากกว่าการมาชวนนักลงทุนรายบุคคล แต่ด้วยผลตอบแทนสูงนี่แหละ ที่ใช้ล่อความโลภของเหยื่อให้มาติดกับ ความโลภมักบังตาบังสมองของเหยื่อให้มองข้ามความเสี่ยงของแชร์ลูกโซ่เหล่านี้

สร้างความน่าเชื่อถือ - วีธีการที่พบบ่อยในการสร้างความน่าเชื่อถือของมิจฉาชีพที่มักใช้ล่อเหยื่อ อย่างแรก คือ การอ้างอิงบุคคลดัง หรือบุคคลมีตำแหน่งสูง ว่าเกี่ยวข้องกับสินค้าของแชร์ลูกโซ่ เช่น การจ้างหรือขอคนดังในสังคมมาถ่ายรูปกับผลิตภัณฑ์หรือโลโก้ของสินค้าไว้ใช้อ้างอิง อย่างที่สอง คือ การโพสต์รูปภาพที่คนทั่วไปเชื่อว่า คนที่มีสิ่งเหล่านี้เท่านั้น คือ พวกที่ประสบความสำเร็จ เช่น การโพสต์รูปตัวเองคู่กับรถสปอร์ตหรูเปลี่ยนไปมาหลายๆ คัน (ที่จริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่ไปเช่ามา) การถ่ายรูปกับเงินกับธนบัตรเยอะๆ หรือการโพสต์รูปยอดเงินในแอปพลิเคชันธนาคารบนหน้าจอมือถือ หรือการโพสต์ตัวเองในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อย่างที่สาม การเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้า เช่น การจัดสัมมนาในโรงแรมใหญ่ๆหรือการเช่าออฟฟิศในอาคารย่านธุรกิจกลางกรุง (ยอมลงทุนสูงเพื่อสร้างภาพ แต่บริษัทพวกนี้มักจะพบว่าจะจัดตั้งจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ได้ไม่เกินสามสี่ปีที่ผ่านมา) หลายครั้งเอาบริษัทหรือสินค้าตัวเองไปอ้างอิงกับแบรนด์เนมอื่นๆ ดังๆ โดยที่แบรนด์ที่โดนอ้างอิงไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย บางบริษัทนำชื่อแบรนด์ดังๆ มาตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกัน เช่น แบรนด์สถาบันการเงินดังๆ อย่างสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กับเจพีมอร์แกน ก็ถูกมิจฉาชีพนำมาตั้งชื่อบริษัทเป็นสแตนดาร์ดมอร์แกน เป็นต้น อีกอย่าง คือ การสร้างความน่าเชื่อถือโดยการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าในเชิงลึก (ซึ่งหลายครั้งก็ลึกมากจนเหยื่อยากที่จะตรวจสอบว่า ข้อมูลเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่) เช่นกัน อ้างอิงหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เช่น บริษัทในต่างประเทศหรือ ก.ล.ต. ของต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้ หรือความพยายามมากพอที่จะไปตรวจสอบถึงในต่างประเทศ

ความน่าเชื่อถือที่ใช้ได้ผลที่สุด คือ การที่มิจฉาชีพสร้างเกาะป้องกันตัวเองด้วยการนำเหยื่อที่เป็นสมาชิกรุ่นแรกๆ ออกมายืนยันว่าได้รับผลตอบแทนจริงจากการทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่เหล่านี้ เพราะเป้าหมายของมิจฉาชีพมักจะเกิดความกังวลที่จะลงทุนในช่วงแรกๆ แต่หากมีคนรู้จักหรือมีคนจำนวนมากพอที่ช่วยยืนยันว่าเคยลงทุนมาแล้ว และได้เงินผลตอบแทนตามที่มิจฉาชีพรับปากไว้ ก็จะทำให้เป้าหมายใหม่ตกหลุมพรางได้ง่ายกว่าเดิม เหยื่อส่วนใหญ่ตกหลุมพราง เพราะคนใกล้ตัวที่ไว้ใจมาชวนลงทุน ซึ่งคนใกล้ตัวเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมาก่อนทั้งนั้น เพียงแต่มิจฉาชีพได้ยอมจ่ายผลตอบแทนให้ในช่วงแรกๆ ก็เหมือนการตกทอง ซึ่งพอเหยื่อแรกๆ มักจะลองลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยๆ ก่อน พอได้ผลตอบแทนอย่างที่มิจฉาชีพบอก ก็จะนำเงินมาลงทุนจำนวนมากขึ้นๆ และก็จะชักชวนคนอื่นๆ มาลงทุนด้วยอัตโนมัติ ยิ่งไปกว่านั้น เหยื่อกลุ่มแรกๆ จะเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่สุดในการยืนยันว่า แชร์ลูกโซ่เหล่านี้จ่ายผลตอบแทนจริง (ซึ่งสุดท้ายก็โดนชักดาบกันหมด อยู่ที่ใครโดนมากโดนน้อย)

เน้นการหาสมาชิก มากกว่าเน้นสินค้า - ถ้าเหยื่อสังเกตดีๆ ผลตอบแทนของแชร์เหล่านี้ไม่ได้มาจากการขายสินค้า ธุรกิจการค้าที่ดีมักมีสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีที่ขายได้ด้วยตัวมันเองหรือไม่ก็การตลาดที่ดีที่สามารถชักจูงคนมาซื้อสินค้าได้ แต่แชร์ลูกโซ่มักไม่ได้เน้นการขายสินค้าที่มีคุณภาพ หรือการทำการตลาดของตัวสินค้า แต่จะเน้นการตลาดในการหาสมาชิกใหม่เพิ่ม โดยให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกเก่าเพิ่มขึ้นนอกเหนือการขายสินค้า เมื่อแนะนำสมาชิกใหม่ให้แก่มิจฉาชีพ พวกมิจฉาชีพมักเปิดตัวด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัท และสินค้าด้วยวีธีการต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ก็จะปิดจบด้วยการจูงใจเหยื่อให้หาสมาชิกใหม่ๆ ให้ได้มากกว่าการขายสินค้า (เพราะสมาชิกใหม่นี่แหละทำให้มิจฉาชีพมีเงินมาจ่ายผลตอบแทนสมาชิกเก่า)

กระตุ้น โน้มน้าว กดดัน ยั่วยุ ให้เหยื่อเกิดอารมณ์ร่วม - เหยื่อมักถูกเริ่มต้นด้วยการโน้มน้าวด้วยข้อมูลของบริษัทและสินค้า ด้วยผลตอบแทน ด้วยคำพูดฟังดูมีเหตุผลต่างๆนานาๆ แต่หากเหยื่อยังไม่ตกหลุมพราง มิจฉาชีพมักจะเริ่มยั่วยุด้วยประโยคยอดฮิตประเภท “ถ้าพี่ไม่สนใจไม่เป็นไร พี่ไม่อยากประสบความสำเร็จก็เรื่องของพี่ ผม (หนู) แค่หวังดี” หรือ “ถ้าไม่กล้าเปิดรับสิ่งใหม่ๆ คุณจะกลับไปวังวนจนๆเดิมๆ” และก็อีกปลายประโยคที่จะไปกระตุกต่อมอยากรวยของเหยื่อให้รู้สึกเสียดายโอกาส (จริงอยู่ที่เราควรจะคว้าโอกาสเมื่อมันเข้ามาหา แต่ควรศึกษาว่าที่เข้ามานั้น มันเป็นโอกาสจริงๆ หรือเป็นวิกฤต)

การระดมทุนแบบไม่จำกัด - พวกแชร์ลูกโซ่มักจะระดมทุนไปเรื่อยๆ ยิ่งหาสมาชิกใหม่ได้มากได้นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งหลอกเงินชาวบ้านได้มากขึ้นเท่านั้น แม้จะบอกเหตุผลของการระดมทุน แต่จะไร้เป้าหมายจำนวนเงินในการระดมทุนที่ชัดเจน แตกต่างจากการระดมทุนของสถาบันฯ หรือบริษัทที่ใหญ่ๆ ที่มักจะบอกวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ระดม และบอกจำนวนเงินที่ต้องการระดมอย่างชัดเจน

ทำไมแชร์ลูกโซ่ถึงจะยังมีอยู่อีกในอนาคต

ความโลภ ความไม่รู้ และความเชื่อใจ - เมื่อใดก็ตามยังมีคนที่แสวงหาผลตอบแทน ต้องการใช้เงินเพื่อต่อเงิน โดยปราศจากความรู้เท่าทันถึงวีธีการของมิจฉาชีพ ความโลภก็จะยังดึงคนเหล่านี้ไปเป็นเหยื่อของโจร เช่นเดียวกับความเชื่อใจของเหยื่อที่โดนมิจฉาชีพ หรือคนรู้จักที่ถูกใช้เป็นนกต่อ ชักชวนไปลงทุน เหยื่อก็มักตัดสินใจลงทุนด้วยความเชื่อใจมากกว่าด้วยเหตุและผลที่เหมาะสม

บทลงโทษน้อยเกินไป - ผู้กระทำความผิด แม้จะถูกตัดสินให้จำคุกหลายพันปีหลายหมื่นปี แต่สุดท้ายก็ติดคุกไม่กี่ปี หรือไม่กี่สิบปีก็ออกมาใช้ชีวิตปกติ หรือมิจฉาชีพอาจจะหนีไปที่อื่น เพื่อรอให้หมดอายุความก่อนที่จะกลับมาใช้เงินที่โกงชาวบ้านมา จึงทำให้มิจฉาชีพไม่เกรงกลัวที่จะโดนจับดำเนินคดีเมื่อเทียบกับผลตอบแทนก้อนโตที่เค้าจะได้

เหยื่อไม่รู้จะพึ่งพาใคร - ตั้งแต่ตอนโดนชักชวนให้ลงทุน เหยื่อเองไม่รู้จะตรวจสอบข้อมูลของบริษัทมิจฉาชีพเหล่านั้นที่ไหน ครั้นพอไปสอบถามหน่วยงานต่างๆ ในช่วงแรก หน่วยงานเหล่านั้นยังไม่มีผู้เสียหายมาร้องเรียนทำให้หน่วยงานเหล่านั้น ก็ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเชิงลึกเพื่อหาข้อมูล อย่างดีก็ได้แค่ออกข้อความเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง ซึ่งก็ต้องเข้าใจฝั่งหน่วยงานต่างๆ ด้วยว่า ในเมื่อเค้ายังไม่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ การจะเข้าไปตรวจสอบก็ใช้บุคลากร และทุนเหมือนกัน ซึ่งทางที่ดี หากไม่มั่นใจว่า บริษัทหรือสินค้าตัวนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ก็ไม่ต้องเสี่ยงไปลงทุนเลยจะดีที่สุด นอกจากนี้ เหยื่อส่วนใหญ่ก็มักจะอายที่ตัวเองโดนหลอก ก็มักจะไม่กล้าเป็นผู้ร้องทุกข์ เพราะทำให้ตัวเองดูโง่ หลายคน จึงมักหลอกตัวเองด้วยคำว่า “ช่างมัน ถือว่าฟาดเคราะห์” จะดีกว่าถ้าเหยื่อช่วยกันเผยแพร่ความเสียหายที่ตัวเองประสบเพื่อให้สังคมรู้ระวังเท่าทันโจร

เทคโนโลยีทำให้เข้าถึงเหยื่อง่าย - เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม ข้อดีก็มหาศาล แต่พอโจรรู้จักใช้เทคโนโลยีก็ทำให้เกิดภัยได้มากขึ้น อย่างเช่น Social Network ทำให้เราเห็นมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ เข้าถึงเหยื่อได้เป็นจำนวนมากง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้ความเสียหายของแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันนั้น มีจำนวนผู้เสียหาย และจำนวนเงินที่มากขึ้นกว่าสมัยก่อนหลายเท่าตัว จริงอยู่ที่เหยื่อสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือสินค้าของมิจฉาชีพได้ง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้มิจฉาชีพเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับบริษัท หรือสินค้าตัวเองให้เหยื่อเข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน

มิจฉาชีพปรับตัวมาในรูปแบบใหม่ๆเสมอ - มิจฉาชีพมีการหาข้อมูลด้านกฎหมาย มีการหาข้อมูลด้านสินค้า และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำมาใช้โน้มน้าวสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อหลงเชื่อ อย่างปัจจุบัน มิจฉาชีพก็จะไปถึงเรื่อง ICO (Initial Coin Offering) ก็มี ไปเรื่อง Venture Capital ก็มี ไปเรื่อง Crowd Funding ก็มี ไปเรื่องลงทุนหุ้นในต่างประเทศ หรือออปชันในต่างประเทศก็มี หรือไปลงทุนใน Startup ก็มี นอกจากนี้ มักรู้เรื่องกฎหมายเอาไว้ขู่คนที่มาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวมิจฉาชีพว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ด้วย มักจะขู่คนที่มาตั้งคำถามเชิงลึกเกี่ยวกับตัวบริษัทของมิจฉาชีพ ซึ่งในกลุ่มมิจฉาชีพใหญ่ๆ ในแชร์ลูกโซ่บางตัวก็มีคนที่เป็นทนายด้วย บางทีก็มีคนมีสีเกี่ยวข้องด้วย

บทสรุปของแชร์ลูกโซ่ในสังคม ต้องยอมรับว่ายังไงเราคงจะเจอแชร์ลูกโซ่อีกแน่นอนในอนาคตอันใกล้ ยิ่งช่วงเศรษฐกิจไม่ดี คนยิ่งวิ่งหารายได้กันมากขึ้นก็ยิ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มแชร์ลูกโซ่มีมากขึ้น จะพึ่งพาหน่วยงานต่างๆ ก็พึ่งได้ระดับนึง แต่ทางที่ดีที่สุด คือ การพึ่งพาตนเอง ทุกคนอยากรวยเร็ว และนี่คือ จุดอ่อนที่จะทำให้มิจฉาชีพหลอกเราได้ รวยเร็วนั้นมีจริง แต่ไม่ง่าย แต่รวยเร็วแล้วรวยง่ายๆ แบบไร้ความเสี่ยงนั้น ไม่มีจริง อะไรที่ยิ่งฟังดูดี เรายิ่งต้องระวัง ยิ่งต้องศึกษาให้มากก่อนที่จะลงทุน คงไม่มีใครปกป้องเงินตัวคุณได้ดีเท่าตัวของคุณเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น