บริษัท โกลบอลกรีนเคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ได้ชี้แจงปัญหาวัตถุดิบคงคลังที่สูญหาย ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่ข้อมูลที่ชี้แจงกลับพูดถึงการทุจริตภายในบริษัทมหาชนแห่งนี้น้อยมาก ทั้งที่เป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจ
GGC ตรวจพบวัตถุดิบคงคลังจำนวน 71,848 ตัน มูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งชำระราคาไปแล้ว ไม่มีอยู่จริงเต็มตามจำนวน
การตรวจสอบพบว่า พนักงานฝ่ายจัดซื้อและรับวัตถุดิบกระทำนอกเหนือหน้าที่ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยรู้เห็นกับบุคคลภายนอกหรือคู่ค้าบริษัท ฯ ร่วมกันสร้างความเสียหาย โดยแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา
วันที่ 5 กรกฎาคม ก.ล.ต.ได้สั่งให้ GGC ชี้แจงปัญหาวัตถุดิบคงคลังที่สูญหาย และหากพบการทุจริตภายใน คณะกรรมการและผู้บริหารจะต้องดำเนินคดีผู้กระทำผิดในทันที โดยขีดเส้นให้ชี้แจงภายในวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นการให้เวลาฝ่ายบริหาร GGC เต็มที่เพื่อเตรียมข้อมูลชี้แจง
GGC ชี้แจงปัญหาวัตถุดิบคงคลังที่ถูกยกเค้าตามเส้นตาย วัตถุดิบคงคลังมูลค่า 2,100 ล้านบาทที่ไม่มีอยู่จริงตามจำนวนนั้น ความเสียหายจริงอาจต่ำกว่า เพราะบริษัทมีสิทธิเรียกคืนค่าวัตถุดิบที่ไม่มีการส่งมอบหรือทวงถามให้มีการส่งมอบวัตถุดิบที่ยังไม่ได้ส่งมอบ รวมทั้งเรียกชำระเงินคืน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ฝ่ายบริหาร GGC พยายามชี้แจงว่า วัตถุดิบคงคลังที่ถูกโจรกรรม มูลค่าความเสียหายอาจต่ำกว่า 2,100 ล้านบาท แต่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงจะเป็นเท่าไหร่
และการฟ้องร้องเรียกค่าวัตถุดิบคืนนั้น คู่ค้าจะยอมจ่ายหรือไม่
ส่วนประเด็นการทุจริตวัตถุดิบคงคลังนั้น ฝ่ายบริหาร GGC ชี้แจงว่า คณะกรรมการบริษัท ฯ มีมติให้ดำเนินคดีตามกฎหมายบุคคลที่เกี่ยวข้อง และสอบสวนทางวินัยพนักงานทุกระดับที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มดำเนินการทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา
คำชี้แจงที่ยาวเหยียด ฝ่ายบริหาร GGC พูดถึงการทุจริตภายในน้อยมาก ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ร่วมขบวนการโกงสต๊อกวัตถุดิบ ไม่มีการเปิดโปงคู่ค้าที่สมรู้ร่วมคิด และไม่รู้ว่า
การดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่ร่วมโกง ดำเนินการในรูปแบบใด แจ้งความดำเนินคดีอาญาแล้วหรือยัง
การทุจริตใน GGC เป็นเรื่องใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วไป เพราะ GGC เป็นบริษัทมหาชน มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 7,760 ราย และยังเป็นบริษัทที่กึ่งรัฐกึ่งเอกชน เพราะเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
คณะกรรมการบริษัท ฯ จึงควรแสดงความรับผิดชอบ ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท ฯ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะปกปิดกลุ่มผู้กระทำผิด ร่วมกันโกงผู้ถือหุ้นและเงินของรัฐ
แต่ต้องเปิดโปงผู้ร่วมขบวนการทุจริต โดยเฉพาะคู่ค้าที่สมรู้ร่วมคิด เพื่อประจานให้สังคมรับรู้ และร่วมกันประณามพฤติกรรม
ตั้งแต่ตรวจพบการทุจริตสต๊อกวัตถุดิบ คณะกรรมการ GGC จะต้องเร่งสอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมาย และเปิดเแถลงข่าวเปิดโปงขบวนการทุจริตให้สาธารณชนรับทราบในทันที ไม่ใช่งุบงิบปกปิด
จนวันนี้ยังไม่รู้ว่า มีพนักงาน GGC ระดับใดร่วมขบวนการโกงบ้าง และคู่ค้าที่สมรู้ร่วมคิดเป็นใคร ฝ่ายบริหาร GGC ชี้แจงข้อมูลตามคำสั่งของ ก.ล.ต.แล้ว แต่เป็นข้อมูลที่ขาดความเพียงพอในการตัดสินใจลงทุนของหุ้นตัวนี้ เพราะยังไม่อาจประเมินความเสียหายที่แน่ชัดจากการทุจริตภายในได้
และไม่มีคำอธิบายถึงขั้นตอนการโกงสต๊อกวัตถุดิบ รายละเอียดของบุคคลที่ร่วมขบวนการโกง รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินคดีที่เป็นรูปธรรม
ก.ล.ต.อาจพอใจคำชี้แจงของ GGC แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไป ไม่น่าจะพอใจในคำชี้แจงที่มีลักษณะขอไปที เพราะไม่มีข้อมูลรายละเอียดถึงขบวนการทุจริตภายในที่สาธารณชนอยากรู้แต่อย่างใด
ไม่รู้ว่า คณะกรรมการ GGC มีรายได้ปีละเท่าไหร่ แต่ประเมินจากผลงานการแก้ปัญหาทุจริตสต๊อกวัตถุดิบมูลค่า 2,100 ล้านบาทแล้ว คณะกรรมการชุดนี้น่าจะทำงานไม่คุ้มค่าเงินเดือนที่ผู้ถือหุ้นต้องจ่าย
ไม่ได้แสดงถึงสำนึกความรับผิดชอบในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่ดีพอ
(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )