xs
xsm
sm
md
lg

“QE Unwind” ฉุดสภาพคล่องระบบการเงินโลกให้ลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สภาพคล่องในระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ลดลง จาก QE Unwind หรือการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) โดยกลับมาดำเนินนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันสภาพคล่องในตลาดเงินตลาดทุนรวมถึงตลาดทองคำ”

ด้านธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) หากย้อนไปในอดีตเมื่อปีค.ศ. 2008 สหรัฐเผชิญวิกฤติ Subprime จนทำให้เฟดต้องใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ 0% (Zero Interest Rate Policy : ZIRP)  ไม่เพียงเท่านั้น เฟดได้ดำเนินโครงการ Quantitative Easing(QE) โดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities : MBS) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งได้เริ่มเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่ปีค.ศ. 2008-2014 และคงมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อเนื่องมาจนกระทั่งเศรษฐกิจฟื้นขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

เฟดจึงได้ตัดสินใจคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น โดยการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ซึ่งเริ่มไปแล้วเมื่อเดือนต.ค.2017 จากการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (reinvest) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities : MBS) รวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และทยอยเพิ่มปริมาณการหยุด reinvest จนกระทั่งลดงบดุลทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
 
 

ด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ได้เริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าระบบตั้งแต่ปลายปี 2014 อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นมูลค่าการซื้อยังอยู่ในระดับต่ำ อีซีบีเริ่มจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2015 โดยเข้าซื้อตราสารทางการเงินจำนวนมากถึงเดือนละ 60,000 ล้านยูโรตั้งแต่เดือนมี.ค. 2015 และเพิ่มเป็น 80,000 ล้านยูโรต่อเดือนในเดือนเม.ย. 2016 ทำให้อีซีบีมีทรัพย์สินสูงถึง 3.8 ล้านล้านยูโร ณ สิ้นปี 2016

จนกระทั่งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อีซีบีจึงประกาศเตรียมที่จะดำเนินนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน โดยประกาศว่าโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) จะสิ้นสุดลงในเดือนธ.ค.ปี 2018 นี้

สำหรับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสำคัญของโลกอย่างเฟดและอีซีบี “เปลี่ยน” การดำเนินนโยบายการเงินจากเดิมที่เป็นไปในลักษณะผ่อนคลายเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ (Monetary Policy Normalization) เป็นปัจจัยเชิงลบต่อตลาดทองคำได้ทางหนึ่ง เพราะหากย้อนไปในอดีตจะพบว่าการใช้มาตรการ QE อัดฉีดเงินเข้าระบบ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวลดลง สภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้นักลงทุนแสวงหาตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เม็ดเงินจึงไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงตลาดทองคำ แต่เมื่อธนาคารกลางหลักๆของโลกเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดทองคำได้บางส่วน

YLG_Research
ที่มา : Infoquest, Wolfstreet, Real Investment Advice


กำลังโหลดความคิดเห็น