นักเก็งกำไรหุ้นที่มีการแตกพาร์หรือ “สปลิทหุ้น” ได้บทเรียนกันอีกครั้ง กรณีหุ้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ซึ่งประเดิมซื้อขายด้วยพาร์ใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ราคาทรุดตัวลงกว่า 6 %
KTC แตกพาร์หรือมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากเดิม 10 บาท เหลือพาร์ 1 บาท โดยหลังประกาศแตกพาร์ นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไร ทำให้ราคาหุ้นขยับขึ้นอย่างคึกคัก จากเคลื่อนไหวในระดับ 300 บาทต้น ๆ ขึ้นไปสูงสุดที่ 382 บาท ก่อนอ่อนตัวลงมาเคลื่อนไหวระดับ 350 บาท
ก่อนซื้อขายด้วยพาร์ใหม่ KTC ยืนอยู่ที่ 354 บาท และเมื่อประเดิมซื้อขายพาร์ใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทันทีที่เปิดตลาด มีแรงซื้อเข้ามา ไล่ราคาหุ้นขึ้นไปเปิดที่ 35.75 บาท และสูงสุดที่ 36 บาท หลังจากนั้นมีแรงขายไหลเข้ามา กดดันราคาหุ้นให้อ่อนตัว จนปิดที่ 33 บาท ลดลง 2.40 บาท หรือลดลง 6.78 %
นักเก็งกำไรหุ้นสปลิทผิดหวังกันเป็นแถว เพราะต้องเจ็บ ๆ คัน ๆ จากราคาหุ้นที่ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง
ก่อนหน้านี้ นักเก็งกำไรการสปลิทหุ้น เคยเลือดไหลซิบ ๆ มาแล้ว จากหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT
หุ้น PTT แตกพาร์จาก 10 บาท เหลือพาร์ 1 บาทเหมือนกัน โดยซื้อขายด้วยราคาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ซึ่งราคาวันก่อนหน้าปิดที่ 572 บาท และเป็นราคาที่ปรับตัวขึ้นหลังประกาศสปลิทหุ้น
PTT เปิดการซื้อขายด้วยพาร์ใหม่ที่ 57.75 บาท และถูกลากขึ้นไปสูง สุดระหว่างชั่วโมงซื้อขายที่ 59.50 บาท และอ่อนตัวลงมาปิดที่ 58 บาท
แต่หลังจากสปลิทหุ้น PTT ปรับฐานลงมาต่อเนื่อง ล่าสุดปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมที่ 47.50 บาท ลดลงจากจุดสูงสุดวันแรกที่สปลิทหุ้น 2 บาท หรือลดลงประมาณ 30 %
นักเก็งกำไรหุ้นสปลิท ติด PTT กันระนาว
ในอดีตการสปลิทหุ้น ถือเป็นข่าวดีชิ้นใหญ่ของนักลงทุน โดยหุ้นตัวใดที่ประกาศสปลิท นักลงทุนจะแห่เก็งกำไรกันฝุ่นตลบ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์
แม้จะมีเสียงเตือนจากหลายฝ่าย แนะให้นักลงทุนระมัดระวังการเก็งกำไร เพราะการสปลิทหุ้น ไม่มีผลใด ๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงด้านปัจจัยพื้นฐาน เพียงแต่ทำให้การซื้อขายมีสภาพคล่องขึ้นเท่านั้น และส่งผลกระตุ้นเชิงจิตวิทยาการลงทุนอยู่บ้าง
แต่นักลงทุนไม่ฟังเสียงเตือนใด ๆ แห่เข้าไปไล่ราคาหุ้นสปลิท จนเสียหายมาแล้วนับไม่ถ้วน
การสปลิทหุ้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นหุ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายอยู่พักใหญ่ โดยตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถกำกับหรือแทรกแซงได้ นอกจากยืนดูนักลงทุนถูกเชือดจากเกมสปลิทหุ้น
ส่วนการสปลิทหุ้นของ PTT และ KTC นั้น ถือมีเหตุผล เพราะมูลค่าหุ้นเริ่มสูง และเป็นข้อจำกัดของนักลงทุนรายย่อยประเภทเบี้ยน้อยหอยน้อย ซึ่งไม่สามารถลงทุนหุ้นทั้งสองตัวนี้ได้อย่างคล่องตัว
ทั้ง PTT และ KTC คงไม่ได้มีเป้าหมายในการกระตุ้นราคาหุ้น แต่นักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไรกันเอง เพียงแต่ไม่ลุยกันสุดตัวเหมือนในอดีต เพราะเริ่มมีประสบการณ์แล้วว่า การสปลิทหุ้น ที่สุดแล้วจะไม่มีผลใด ๆ ต่อราคาหุ้น แต่ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐาน
เช่นเดียวกัน หลังจากนี้ ทิศทางหุ้น KTC จะถูกกำหนดโดยปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มผลประกอบการ ซึ่งในระยะสั้น ต้องรอดูการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 และอีกไม่กี่วันคงจะแจ้งงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์
แต่ราคาหุ้น KTC ขณะนี้ ไม่ถูกนักเพราะมี ค่า พี/อี เรโช สูงกว่า 22.51 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 1.61% ถ้ากำไรไตรมาสที่ 2 ไม่สวย ราคามีสิทธิ์ทรุดลงไปต่อ
KTC กำลังจะเป็นหุ้นอีกตัวที่ตอกย้ำบทเรียนนักลงทุนว่า หมดสมัยที่จะเก็งกำไรหุ้นสปลิทแล้ว
ใครหลงยุค แห่เข้าไปเล่นหุ้นสปลิท แม้ไม่ตาย แต่ต้องวิ่งตามควายกันพักใหญ่ละ
(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )