รัฐบาลเตรียมผุดโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยปูพรหมทั่วประเทศ โยน ธอส.- กคช.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-ร่างแผนโครงการเสร็จภายใน 4 เดือน พร้อมมั่นใจอสังหาฯ เติบโตแน่ ด้าน ธอส. รับลูกจัดทำไฟแนนซ์เชียลโปรแกรม ปล่อยกู้ทั้งรายย่อย และสินเชื่อโครงการ เตรียมหาแนวทางช่วยผู้กู้ผ่อนบ้าน 2,000-3,000 บาทต่อเดือน
ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เปิดงาน “บ้าน ธอส. เอ็กซ์โป @ กรุงเทพฯ” ประจำปี 2561 ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยนับจากนี้ต้องเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น กล้าจับจ่ายใช้สอย กล้าซื้อบ้าน นอกจากนี้ การลงทุนยังปรับตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐขยายเส้นทางคมนาคม ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการขยายเส้นทางคมนามคม รถไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าเติบโตขึ้นในทุกเส้นทาง เพราะเมื่อไหร่ที่ธุรกิจอสังหาฯ เติบโตขึ้นก็จะทำให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องเติบโตไปด้วย ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนที่ในไตรมาส 1 เติบโตขึ้น 3% และการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนด้านโครงข่ายคมนาคม โครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ที่จะเห็นผลใน 4-5 ปีข้างหน้า จะทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นอีกมากอย่างแน่นอน
ส่วนการลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงของหลายๆ จังหวัด และเกิดความเจริญอย่างที่คาดไม่ถึง โครงการการพัฒนาเมืองหลักในภูมิภาค เช่น ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น และอีกหลายจังหวัดที่กำลังจะตามมา จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเหล่านั้นฟื้นตัวขึ้น และการส่งเสริมการท่องเที่ยวหัวเมืองรองที่รัฐบาลจะทำให้เติบโตขึ้นภายใน 4-5 ปี จะทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองในภูมิภาค ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนก่อนก็จะได้เปรียบ ซึ่งในปีนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตอย่างแน่นอน และจะโตต่อเนื่องจากโครงการที่รัฐบาลผลักดัน
นายสมคิด กล่าวต่อว่า การมีที่อยู่อาศัยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัว ถือเป็นความตั้งใจตั้งแต่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ที่เริ่มสร้างครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาโครงการบ้านในระดับแมสในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเข้าโครงการ PPP ที่มีอยู่แล้ว โดยให้เวลา 3-4 เดือน ในการคิดโครงการ และเสนอโครงการเข้ามา หากจะให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องใดก็ให้เสนอเข้ามา
“อยากให้ทำทีเดียวจบเลยเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่มาทำทีละเฟส ตอนนี้รัฐบาลก็สนับสนุนเต็มที่ อยากได้อะไรให้เสนอมา แต่ทุกอย่างจะต้องเห็นภาพภายใน 3-4 เดือน โดยจุดประสงค์หลัก คือ ให้คนไทยที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องไปหารือกันมากับภาคเอกชน ทั้งนี้ เรื่องของราคาและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องไม่สร้างภาระให้ทั้งคนปล่อยกู้และคนผ่อน” นายสมคิด กล่าว
ด้านนายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า จากนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี การเคหะฯ มีโครงการสนับสนุนให้เอกชน ที่มีที่ดินในต่างจังหวัดพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศในทุกจังหวัดได้ โดยอยู่ระหว่างการทำเอ็มโอยู ร่วมกับสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ในการสนับสนุนสินเชื่อโครงการ และรายย่อย หลังจากนั้น จะทำเอ็มโอยูร่วมกับเอกชนซึ่งขณะนี้มีอยู่ 50-60 ราย ที่ให้ความสนใจ ขณะเดียวกัน จะนำโครงการร่วมทุน 3 โครงการ ได้แก่ การเคหะฯร่มเกล้า การเคหะหนองหอย เชียงใหม่ และโครงการฟื้นฟูเคหะชุมชนดินแดง เฟส 3 และ 4 เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาในสัปดาห์หน้า
ธอส. รับลูกเร่งทำไฟแนนซ์เชียลโปรแกรม
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมกการผู้จัดการ ธนาคาร ธอส. กล่าวว่า ภายในเดือนนี้จะนำนโยบายของนายสมคิด เข้าหารือกับคณะกรรมการ (บอร์ด) ธอส. เพื่อเดินหน้าโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และจัดทำไฟแนนซ์เชียลโปรแกรม เพื่อปล่อยสินเชื่อได้ทั้งสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อโครงการ โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะผ่อนได้ 40 ปี และราคาบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท และผู้มีรายได้น้อยสามารถผ่อนชำระรายได้ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน เพื่อไม่ให้ค่างวดผ่อนค่าบ้านกระทบต่อค่าครองชีพ ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็เช่นกันจะต้องไมเดือนร้อนผู้กู้ และผู้ปล่อยกู้
“คงต้องดูเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่จะใช้จาก PPP ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับรายละเอียดเบื้องต้น จะต้องผ่อนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ผ่อนได้นาน 40 ปี และยังคงรักษาวินัยทางการเงิน ความมั่นคงทางอาชีพของผู้กู้เป็นส่วนประกอบด้วย” นายฉัตรชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุไม่อยากให้การปล่อยสินเชื่อที่อยุ่อาศัย อยู่ในระดับต่ำ หรือ 0% นั้น เห็นด้วยกับ ธปท. เนื่องจากกลุ่มที่มีปัญหาคือกลุ่มที่ตั้งใจจะกู้ เพื่อการลงทุน หรือซื้อบ้านหลังที่สอง แต่สำหรับกลุ่มที่ต้องการกู้เพื่ออยู่อาศัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลุ่มที่น่ากังวล
“เดิมบ้านราคา 1 ล้านบาท จะต้องผ่อนนาน 30 ปี ผ่อนชำระเดือนละ 6,000 บาท แต่หากราคาบ้านถูกลงดอกเบี้ยไม่สูงมาก ระยะเวลาผ่อนนานขึ้นเช่น 40 ปี ก็เชื่อว่าน่าจะผ่อนในอัตรานี้ได้ ซึ่งบ้านที่จะพัฒนาอาจจะเป็นรูปแบบคอนโดมิเนียม เนื่องจากต้นทุนที่ดินถูกกว่า ทำให้พัฒนาออกมาในราคาที่ไม่สูงมากนัก หรือสามารถขายไดในราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับงาน ธอส. เอ็กซ์โปนั้น ปีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาขอสินเชื่อเป็นจำกนวนมาก จากเดิมที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อภายในงาน 4 วัน วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยวันแรกสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 4,000 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่าตลอดงาน 4 วันจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Leaving no one behind Housing and Urban Development” หรือการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่ง ธอส. จัดขึ้นว่า ปัจจุบัน กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองให้มากที่สุด โดยประกอบด้วย 1. ส่วนของคนจนที่ลงทะเบียนร่วมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคนนั้น จะมีการจัดทำแพกเกจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2.75% ในช่วง 4 ปีแรก จากนั้น ก็คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และให้สามารถผ่อนชำระได้นาน 40 ปี
2. โรงเรียนการเงินโดยต้องให้ผู้กู้ออมเงินในอัตราหนึ่งก่อนเป็นระยะเวลา 9 เดือน จากนั้น ถึงจะให้กู้ 3. การค้ำประกันการกู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายของ ธอส. เพื่อให้ดำเนินการในส่วนนี้ได้เนื่องจากต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมค้ำประกันด้วย 4. การพัฒนาโครงการซีเนียร์คอมเพล็กซ์ สำหรับผู้สูงอายุ ที่ จ.นครนายก โดยจะคิดค่าเช่าในอัตราที่ถูก
5. สินเชื่อสำหรับผู้สูงวัย หรือ รีเวิร์สมอร์เกจ (Reverse Mortgage) โดยเปิดให้ผู้สูงอายุนำบ้านมาจดจำนองแล้วสถาบันการเงินจ่ายค่าบ้านเป็นรายเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ธอส. เพื่อให้สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้เช่นกัน
และ 6. การขึ้นทะเบียนบ้านมือ 2 หรือ Multiple Listing System โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบ้านมือสองค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่ให้ผู้สูงวัยมาอยู่อาศัยร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องบ้านมือสองให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยขณะนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหากทำได้ จะเปิดโอกาสให้ส่วนอื่นเข้ามาดำเนินการด้วยทั้งโบรกเกอร์ หรือนายหน้า และสถาบันการเงิน