xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยครึ่งปีหลังไปต่อ แม้ต่างชาติขาย 1.8 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 ํ - หุ้นไทยครึ่งปีหลังหลายฝ่ายเชื่อยังไปต่อ แม้ช่วงนี้ได้รับแรงกดดันจากสงครามกีดกันการค้าสหรัฐฯ-จีน และการเพิ่มความถี่ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จนต่างชาติเทขาย 1.8 แสนล้านบาท เหตุปัจจัยพื้นฐานประเทศอยู่ในทิศทางที่ดี ผลักดันหลายบริษัทจดทะเบียนกำไรงามในปีนี้ อีกทั้งค่า P/E ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นจังหวะเข้าลงทุนหุ้นที่อิงกับสภาวะเศรษฐกิจประเทศ

ครบ 6 เดือนแรกตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,595.58 จุด ลดลง 158.13 จุด หรือ 9.01% จากช่วงต้นปี (29ธ.ค. ปิดที่ระดับ 1,753.71 จุด) โดยในเดือนมกราคมดัชนีสร้างสถิติจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 1,838.96 จุด จากนั้นตลาดหุ้นต้องเผชิญกับความผันผวน ทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศที่เข้ามากดดัน จนทำให้โดยส่วนใหญ่ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ

ขณะที่มาร์เกตแคปของตลาด ณ วันที่ 29 มิ.ย. 2561 อยู่ที่ระดับ 16.107 ล้านล้านบาท ลดลง 1.48 ล้านล้านบาท จาก 17.58 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2560 โดยแรงเทขายมากที่สุดมาจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งขายสุทธิสะสมมาตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 1.80 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปซื้อสะสมมากที่สุด 1.14 แสนล้านบาท ตามมาด้วยสถาบันซื้อสะสมที่ระดับ 7.69 หมื่นล้านบาท ส่วนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ขายสุทธิ 1.11 หมื่นล้านบาท

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) แสดงความเห็นถึงแนวโน้มตลาดหุ้นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างดี โดยไตรมาสแรกเติบโต 4.7% เป็นการเติบโตในทุกอุตสาหกรรม บ่งชี้ว่าการลงทุนมีสัญญาณฟื้นตัว มีเพียงปัจจัยต่างประเทศที่เข้ามากดดันบรรยากาศลงทุน นั่นคือความกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะไปสู่การเจรจา ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน กำไรสุทธิตลาดต่อหุ้น (EPS) ยังดี ขณะที่ค่าเฉลี่ย P/E ที่ 14 เท่า ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ถือว่าไม่แพง โดยในไตรมาส 3/2561 มองว่าจะเกิดสถานการณ์ เงินบาทอ่อนค่า ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เงินเฟ้อปรับขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ทั้งปี 4 ครั้ง”

โดยกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจเข้าลงทุนคือ กลุ่มธนาคาร จากดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อปรับตัวเพิ่ม อีกทั้งที่ผ่านมาราคาหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงกว่า 10 % จากการแข่งขันฟรีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมออนไลน์ กลุ่มถัดมาคือ กลุ่มอาหาร และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่ผ่านมาราคาหุ้นทั้ง 2 กลุ่มปรับตัวลดลงกว่า 15 % จะกลับมาได้รับผลประโยชน์จากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท

ด้านนางภรณี ทองเย็น รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP) แสดงความเห็นว่า ตั้งแต่ต้นปีดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากตลาดหุ้นไต้หวัน เพราะเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลออกแล้ว 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบเท่าตลอดทั้งปี 2556 ที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1.9 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันเงินลงทุนต่างประเทศยังมีแนวโน้มที่จะไหลออกได้อีก อย่างไรก็ตามยังคงเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ไว้ที่ 1,771 จุด และเมื่อพิจารณาจากค่า P/E ปัจจุบันที่ระดับ 15 เท่าถือว่าไม่แพง

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลัง จึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นเป็น 40% จาก 30% หุ้นหลายตัวมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน โดยเน้นหุ้นที่อิงการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศและได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น

อย่างไรก็ตามด้าน นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ กล่าวว่า หุ้นไทยครึ่งปีแรกจะให้ผลตอบแทนติดลบ เพราะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณขึ้น 4 ครั้งในปีนี้ รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน จะส่งผลให้มีเงินไหลออกไปต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังคงไม่ปรับเป้าดัชนีปีนี้ โดยมองที่ 1,860 จุด เพราะยังมองว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังมีกำไรเติบโตอยู่

ด้านนายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค จากปัจจัยความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ ฯ กับจีน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด แต่หากกลับมาดูพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแล้วพบว่า ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งเห็นได้จากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1/2561 ออกมาดีกว่าตลาดคาด โดยเติบโตถึง 4.8% ทำให้ บลจ.ทิสโก้มองว่า GDP ทั้งปี 2561 ของไทยจะเติบโตในระดับสูงกว่า 4% และตามปกติแล้วในช่วงครึ่งปีหลังภาครัฐจะเร่งลงทุน

นอกจากนี้ในปี 2561 ยังมีการลงทุนจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มาเสริมอีกด้วย ประกอบกับสถานการณ์การเมืองไทยจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 /61 ถึงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงราคาของหุ้นไทยในช่วงนี้พบว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของทั้งตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่า 15 เท่า ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ขณะที่การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2561 คาดว่าจะมีหลายบริษัทที่มีผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด เพราะจะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่จะเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง ดังนั้นในช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุน

"ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เหตุผลหลักมาจากกระแสเงินทุนต่างชาติเริ่มไหลออก เพราะนักลงทุนกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ ฯ และจีน นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากภาวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 4 ครั้งในปีนี้จากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 3 ครั้งในปีนี้ กดดันให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจจะอยู่ในสภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และมีภาระหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับสูง แต่ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหานั้น อีกทั้งกลับมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปีนี้คาดว่าจะออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าไปลงทุน"


กำลังโหลดความคิดเห็น