ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - ภาพรวมครึ่งปีแรก 2561 ต่างชาติขาย 1.5 แสนล้านบาท รายย่อยเข้าซื้อ 8.3 หมื่นล้านบาท โดยรวม 6 เดือนดัชนีลดลง 129 จุด จากจุดสูงสุดของปี ประเมินภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ส่งสัญญาณเติบโตจะช่วงผลักดันดัชนีหุ้นครึ่งปีหลังอยู่แดนบวก แต่สำคัญสุดอยู่ที่การเลือกตั้ง หากไม่เป็นดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์อาจได้เห็นการรูดลงของดัชนี
กล่าวได้ว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดของตลาดหุ้นไทยในรอบครึ่งปีแรก ต้องยกให้กับช่วงเดือนมกราคม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดัชนีหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นจนสามารถสร้างสถิติใหม่ที่ระดับ 1,838.96 จุด จากนั้นตลาดหุ้นต้องเผชิญกับความผันผวน ทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศที่เข้ามากดดัน จนทำให้โดยส่วนใหญ่ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ อาทิ ล่าสุด วันที่ 14 มิ.ย.2561 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,709.86 จุด ลดลง 43.85 จุด หรือ -2.50% จากดัชนีหลักทรัพย์ที่ปิดทำการซื้อขายในวันสุดท้ายของปี 2560 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่ระดับ 1,753.71 จุด
ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับสถิติสูงสุดของปี 2561 ที่ทำได้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พบว่าในช่วงเวลาครึ่งปีดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 129.10 จุด หรือ 7.02%
ด้านการซื้อขายสุทธิ พบว่าในช่วงครึ่งปีแรก นักลงทุนต่างประเทศได้ขายสุทธิแล้วกว่า 155,344 ล้านบาท โดยผู้ซื้อสะสมสูงสุดได้แก่นักลงทุนทั่วไป 83,805 ล้านบาท และสถาบันซื้อสุทธิ 70,506 ล้านบาท
นอกจากนี้ และจากภาพรวมตั้งแต่ต้นปีพบว่า มีหุ้นกลุ่มมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ที่กดดันตลาดอย่างมีนัยสำคัญคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปคิดเป็น 12.6% ของทั้งตลาด ปรากฏว่าในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงถึง 9.7% นับจากต้นปี โดยเหตุผลจากความกังวลเรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านระบบออนไลน์ ที่จะเริ่มเห็นการลดลงชัดเจนในไตรมาส 2/2561 ซึ่งจะกดดันกำไรสุทธิรวมปีนี้ของบรรดาธนาคารไม่โดดเด่น
ถัดมาคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง มีมาร์เก็ตแคป 4.8% ของทั้งตลาด ลดลง 7.9% สาเหตุสำคัญมาจากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างยังซบเซา อีกทั้งหุ้นขนาดใหญ่ของกลุ่มอย่าง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 1 ออกมาต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เช่นเดียวกับ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มีมาร์เก็ตแคป 1% ของทั้งตลาด ปรับตัวลดลงถึง 11% เพราะการเปิดประมูลโครงการภาครัฐมีความล่าช้า บั่นทอนความน่าสนใจเข้าลงทุน
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า กลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มเดียวที่พยุงการเคลื่อนไหวของดัชนี ฯ หุ้นไทย โดยกลุ่มพลังงาน มีมาร์เก็ตแคปคิดเป็น 22.4% ของทั้งตลาด พบว่าที่ผ่านมาปรับขึ้น 4.6% จากผลจากกำไรไตรมาส 1/2561 ดีกว่าคาด เพราะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามต้องติดตามการประชุม OPEC วันที่ 22 มิ.ย.นี้ ซึ่งหากที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าอาจกลับมาเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันอีกครั้ง เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลา รวมทั้งกำลังการผลิตของสหรัฐ ฯ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้หุ้นพลังงานถูกลดความน่าสนใจ และอาจไม่สามารถช่วยพยุงดัชนีหุ้นไทยได้เหมือนช่วงที่ผ่านมา
“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนและผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเล็กน้อย อยู่ในภาวะทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สอง โดยลดลง 1.07 % อยู่ที่ระดับ 91.66 แสดงว่านักลงทุนเชื่อมั่นว่า การลงทุนจะได้รับผลดีจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการลงทุนของภาครัฐ แต่ยังกังวลสถานการณ์การเมืองและความชัดเจนของการเลือกตั้ง รวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด นั่นทำให้มีความเป็นไปได้ว่าดัชนีหุ้นไทยใกล้จบรอบการปรับฐานลงแล้ว และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยนักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น หากมีการประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะตลาดหุ้นมีความคึกคักมากกว่านี้ ขณะที่หมวดธุรกิจที่น่าสนใจนักลงทุนเลือกหุ้นหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือหมวดธนาคาร
ขณะที่ เป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ว่า ฝ่ายวิจัย บล.ทิสโก้ คาดว่าจะขึ้นไปได้ถึง 1,850 จุด โดยแนวโน้มตลาดครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดี หลังจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวได้ถึง 4.8 % โตกว่าที่คาดและเริ่มมีแผนการเลือกตั้ง ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเริ่มทรงตัว เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น และทำให้การขายของนักลงทุนต่างชาติชะลอตัวลง หลังขายหุ้นไทยไปแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท แต่ปัจจัยที่ยังฉุดความเชื่อมั่นคือเรื่องความไม่ชัดเจนการเลือกตั้งนั่นเอง
เช่นเดียวกับ บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่คาดการณ์ว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลัง ปี 2561 ดัชนีฯ มีโอกาสเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวขาขึ้น (ไซด์เวย์อัพ) โดยมีแนวโน้มยกฐานขึ้น ในกรอบ 1,730-1,920 จุด ทำให้เป้าหมายดัชนี ฯ ช่วงสิ้นปีอยู่ที่ 1,904 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ระดับ 1,920 -1,960 จุด และแนวรับที่ระดับ 1,730 จุด นั่นหมายความว่าแย่สุดดัชนี ฯ คงไม่หลุดต่ำกว่าระดับ 1,700 จุด
ส่วนปัจจัยขับเคลื่อนดัชนีหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ มาจากปัจจัยในประเทศคาดว่าเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ และการบริโภคภายในประเทศเริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อในประเทศยังไม่ได้ปรับตัวระดับสูง จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยปีนี้จะไม่ปรับขึ้น รวมถึงอานิสงส์จากการผลักดันนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) น่าจะกระตุ้นให้บรรยากาศการลงทุนพลิกกลับมาคึกคัก
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มเป็นระดับกลางถึงบวก โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบเร่งตัวมากแล้ว หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มปรับตัวอ่อนลงและช่วงที่ผ่านมาทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยิลด์) ก็ปรับตัวขึ้นมารองรับแล้ว ขณะที่ในส่วนสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ฯ คาดว่าน่าจะจบได้ด้วยภาพของการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก
แต่ปัจจัยเสี่ยงช่วงครึ่งปีหลังนั้น ยังเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ ซึ่งหากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปช้ากว่าครึ่งปีแรกปี 2562 มองว่ามีโอกาสที่ดัชนีปรับฐานลงได้ โดยคาดว่ามีโอกาสฉุดดัชนี ฯ ให้ปรับตัวลดลงกว่า 40-50 จุดได้ แต่หากผลที่ออกมาเป็นไปตามที่คนคาดการณ์ไว้ ดัชนี ฯ จะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
สำหรับ การลงทุนช่วงที่เหลือของปีนี้แนะนำกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี เนื่องจากได้รับประโยชน์จากดีมานด์ และซัพพลายที่ยังอยู่ในภาวะขาดแคลนอยู่ ซี่งจะทำให้ส่วนต่าง (สเปรด) มีขาขึ้นรอบใหม่ ถัดมาคือกลุ่มค้าปลีก ซึ่งคาดว่าจะได้ผลบวกจากการบริโภคที่ฟื้นตัวและภาวะเศรษฐกิจที่โตแบบกระจายตัวมากขึ้น หลังมีปัจจัยหนุนจากราคาสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวและมันสำปะหลังที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ คือ กลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะถูกผลักดันจากการท่องเที่ยวที่เติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ถัดมาคือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จะได้อานิสงส์จากโครงการอีอีซี ซึ่งภาครัฐกำลังเร่งผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ออกมาและมีโครงการต่าง ๆ มาเชื่อมต่อระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้แก่นิคม ฯในพื้นที่
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) ให้ความเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก จะขยายตัว ได้ 3.7% ส่วนในครึ่งปีหลังคาดจะขยายตัวได้ 3.8-4% และทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.7% โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนกำลังซื้อให้ฟื้นกลับคืนมา พร้อมคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการออก มากระตุ้น เช่น การจ้างงาน ในท้องถิ่นที่ไม่ใช่การอุดหนุน ราคา เพื่อให้เศรษฐกิจฐานล่างขับเคลื่อนไปได้
อย่างไรก็ตาม มองว่านักลงทุนควรหาช่องทางการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงไปในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่า เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างแน่นอน โดยในปีนี้คาดจะปรับขึ้นทั้งหมดรวม 4 ครั้ง ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดจะยังคงดอกเบี้ยไว้ก่อนภายในปีนี้ และจะปรับขึ้นได้ในปี 2562 อีกจำนวน 2 ครั้ง ขณะที่ราคาน้ำมันในปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนทิศทางค่าเงินบาทในไตรมาส 2/2561 มีโอกาสปรับตัวอ่อนค่าแตะ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไตรมาส 3/2561 จะอยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และจะกลับมาแข็งค่าในไตรมาส 4/2561 ทำให้เงินบาทสิ้นปีนี้คาดอยู่ที่ 32.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นั่นทำให้ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็ม บี (ประเทศไทย) ประเมินว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงแกว่งในกรอบ 1,720-1,750 จุด มาจากทิศทางค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่เป็นความผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเติบโต 10 % ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่อเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้พอสรุปได้ว่า ปัจจัยบวกจากสภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ส่งสัญญาณดีขึ้น จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อดัชนีหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้เดินหน้าอยู่ในแดนบวก โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงโครงการภาครัฐที่จะทยอยออกมา แต่ความชัดเจนในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเช่นกัน โดยหากการเลือกเกิดขึ้นตรงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์จะส่งผลบวกอย่างมากกับดัชนีหลักทรัพย์ ฯ และเช่นกันหากการเลือกตั้งมีการเลื่อนออกไป จากที่คาดการณ์ไว้ ความเชื่อของนักลงทุนจะลดลง จนเป็นผลให้ดัชนีหลักทรัพย์มีโอกาสปรับตัวลดลง 40-50 จุด