วันนี้ เราพาไปพูดคุยกับ เพียงพนอ บุญกล่ำ นักกฎหมายชั้นแนวหน้าของประเทศที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)
การได้ทำงานร่วมกับ ปตท. คุณเพียงพนอ บอกว่าถือเป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญในชีวิต จากเป้าหมายเดิมที่ต้องการเป็นนักกฎหมายในสำนักงานกฎหมายมาโดยตลอด ไม่ใช่นักกฎหมายในบริษัท ที่เรียกว่า In-house ซึ่งที่ผ่านมา เธอสนุกกับบทบาทการเป็นที่ปรึกษา เพราะได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ได้พบเจอผู้คนและเรียนรู้ธุรกิจที่หลากหลาย
คุณเพียงพนอ ทำงานร่วมกับ ปตท. ในฐานะที่ปรึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จึงรู้สึกคุ้นเคยกับองค์กรแห่งนี้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่นำมาสู่การตัดสินใจจริง ๆ คือ แนวคิดการ "อุทิศตน" เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติของคุณเพียงพนอเอง ที่ผ่านมา เธอแบ่งเวลาเพื่อไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อีกทั้งยังรับเชิญเป็นวิทยากรไปบรรยายในเวทีต่าง ๆ เป็นครั้งคราว แต่มองเห็นว่ายังไม่เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากพอ
"เรามาสะดุดคิดว่า ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เมื่อพิจารณาตัวเอง เห็นว่า ตนเองสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร น่าจะสามารถบริหารจัดการ รับมือกับปัญหา และดูแลเรื่องที่ยาก ๆ ได้ เพราะเรื่องของ ปตท. คงไม่มีง่าย มีความท้าทายรอบด้าน ถ้าเราอยากทำประโยชน์ให้กับสังคม ปตท. ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดี นอกจากนี้เรายังมีโอกาสสร้างบุคลากรให้กับองค์กรของประเทศด้วย”
"เมื่อเข้ามาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ต้องบริหารงานในภาพที่ใหญ่ขึ้น ข้อดีของการทำงานตรงนี้คือ ได้มีโอกาสทราบที่มาของการตัดสินใจต่าง ๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ รวมถึงมีบทบาทหรือได้ทำกิจกรรมบางอย่างที่เราสนใจ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจไม่มีโอกาสได้ทำ หากไม่ได้ทำงานใน ปตท.”
สำหรับ การส่งเสริม "สิทธิมนุษยชน" เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ ปตท. และเป็นเรื่องที่คุณเพียงพนอสนใจมาก ซึ่งที่ผ่านมา ในฐานะที่ปรึกษา เธอทำได้เพียงแค่ให้คำแนะนำแก่ ปตท. ในแง่มุมกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผน กำหนดกลยุทธ์ หรือลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
“พอได้มาทำความเข้าใจอย่างจริงจัง เรื่องสิทธิมนุษยชนนี่ครอบคลุมกว้างขวาง และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงมากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจเยอะเลย ทั้งสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม คอร์รัปชั่น ยกตัวอย่าง เช่น โครงการกิจการเพื่อสังคมของ ปตท. ที่ได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เราทำงานโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุนชนรอบพื้นที่สถานประกอบการของ ปตท. รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เราจะต้องดูแลความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน เพื่อให้ ปตท. และชุมชนอยู่ร่วมกันและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”
“อีกเรื่องที่สนใจมากและอยู่ในนโยบายกลุ่ม ปตท. อยู่แล้ว คือ การมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ แม้จะมีงานเยอะ งานยุ่ง งานยาก แต่อยากมีส่วนร่วมในการผลักดันให้มากที่สุด”
เมื่อถามย้อนไปว่า ทำไมจึงเลือกเป็นนักกฎหมาย? เธอเล่าว่า เธอมีแรงบันดาลใจหลากหลาย ทำให้เธอตัดสินใจสอบเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อเรียนจบปริญญาตรี คุณเพียงพนอได้เรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านกฎหมายธุรกิจที่เดิม และปริญญาโทอีกใบที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในกลุ่มชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก แม้จะเป็นผู้หญิง แต่ก็เป็นที่ร่ำลือกันว่า คุณเพียงพนอถือเป็นจอมยุทธ์ในวงการทนาย เป็นทนายที่ไม่ก้าวร้าว แต่แกร่งและเฉียบขาด
ทัศนคติ-EQ สำคัญกว่า IQ
อาจกล่าวได้ว่า คุณเพียงพนอเป็นคนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง ซึ่งเธอมองว่า ปัจจัยความสำเร็จ คือ การมีหลักคิดที่ดี เราต้องชอบในสิ่งที่ทำ มีทัศนคติเปิดรับ และขวนขวายหาความรู้และทักษะที่จำเป็น
"ทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ EQ สำคัญกว่า IQ ถ้าเราเปิดใจเรียนรู้ เราจะรู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนจุดแข็ง มีสิ่งที่ควรปรับปรุงอะไรบ้าง ลด อีโก้ (Ego) ลง ไม่มีอะไรที่มันง่าย แต่ถ้าเราได้ทำสิ่งที่เราชอบ ปัญหา อุปสรรคจะเป็นเรื่องปกติ เราต้องทำอะไรที่เรารัก และรักในสิ่งที่ทำ เราจึงจะทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ทุกวันนี้ เรายังเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ และยากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เพราะชีวิตคือการเรียนรู้"
เธอมองว่า เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักกฎหมายที่ดีจึงควรต้องเรียนรู้อยู่ตลอด อาจเรียกได้ว่า “ตลอดชีวิต” ต้องมีครบทุกทักษะ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน และเขียน เพื่อนำมาใช้ในการทำงาน และสร้างโอกาสให้ตัวเอง
"เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตั้งแต่หนังสือวิชาการตลอดจนนวนิยายบางประเภท ที่มีข้อคิดหรือสาระหน่อยๆ ทุกวันนี้ ยังอ่านนิยายจีนกำลังภายใน เช่น ชุดลี้คิมฮวงและสหาย ทั้งฤทธิ์มีดสั้น จอมดาบหิมะแดง และเหยี่ยวเดือนเก้า ซ้ำไปซ้ำมา เพราะชอบสำนวนภาษาที่สละสลวย อ่านแล้วประทับใจ ทำให้จำได้ไม่ลืม ส่วนสามก๊กนั้นชอบอ่านแบบที่เป็นเล่มวิเคราะห์แต่ละคนไป ทั้งเล่าปี่ โจโฉ สุมาอี้ ขงเบ้ง ในมุมของนักเขียนแต่ละคน วาทะชวนคิดของขงจื๊อก็อ่าน และแม้จะไม่ค่อยได้ไปวัด แต่ก็อ่านหนังสือธรรมะอยู่เป็นระยะ เช่น ของท่าน ป.อ. ปยุตโต ซึ่งให้ข้อคิดดี ๆ เสมอ”
“ที่จริงแล้ว นิยายยังได้สะท้อนให้เห็นระบบการคิด ซึ่งเราสามารถเอามาใช้ในการทำงานได้ เช่น การนำเสนอข้อมูลให้ศาลอย่างไร เพื่อให้ศาลอ่านเอกสารจำนวนมากมายไปแล้วก็ยังจำคำฟ้อง ข้อแก้ต่าง เหตุและผลของเราได้ การเขียนเอกสารในชีวิตจริงนั้น ไม่เหมือนเขียนตำรา ต้องมีใจความสำคัญและมุ่งไปตรงนั้น"
หลักคิดสำคัญ อีกประการที่เธอได้มาจากคุณพ่อและยึดถึงมาถึงปัจจุบัน คือ “อย่าตัดสินคนจากภายนอก” โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักจะมองและตัดสินกันจากภายนอก ซึ่งการเป็นนักกฎหมายที่ต้องพบเจอผู้คนมากมาย คุณเพียงพนอมองว่า การมองคนมีความสำคัญที่ต้องฝึกฝนและทำความเข้าใจ
"ต้องฝึกและทำใจกว้าง ๆ ว่า โลกนี้ มีสิ่งที่เป็นสีขาวหรือดำสนิทไม่มากนัก ส่วนใหญ่คือหลากสี หลายเรื่องเป็นสีเทา ๆ หลายครั้งเราตัดสินคนจากมุมที่เราเห็น บางทีนางเอกที่แสนดีในละครกลับร้ายเหลือเกินในชีวิตจริง หรือนางร้ายแสนร้ายในละครกลับแสนดีในชีวิตจริง ดังนั้น เราจึงไม่ควรตัดสินใครจากมุมที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว เพราะบางคนเลือกให้เราเห็นเขาในมุมแบบนี้ อย่าตัดสินใครเร็วเกินไป เราต้องค่อย ๆ กลั่นกรอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา หรือแม้กระทั่งในการทำงาน ตอนเป็นพนักงานอ่อนอาวุโส เราอาจไม่เข้าใจว่า หัวหน้าทำแบบนี้เพราะอะไร ไม่ว่าจะอย่างไร เราอย่าเพิ่งตอบสนองทันที เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เราจะได้ไม่เสียใจในภายหลัง"
“ความสำเร็จ” เกิดจาก “การรักษาสมดุลของชีวิต”
การมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้หมายถึงต้องทุ่มเทให้กับการทำงานเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องรักษา“ความสมดุลของชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นการให้เวลากับครอบครัว หรือการให้เวลากับตัวเอง เช่น การไปเที่ยวผ่อนคลาย และการทำงานอดิเรก ซึ่งสำหรับเธอนั้น ไม่ได้แปลว่าต้องแบ่งเท่ากันแบบ 50:50 แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะบริหารจัดการอย่างไรให้เหมาะสม มีความลงตัว แล้วรักษาความสำคัญไว้ได้ทุกด้าน
"เราถามตัวเองว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร อะไรที่ทำให้เรารู้สึกดี และมีความสุขกับตัวเอง และค้นพบคำตอบว่า ไม่จำเป็นว่าต้องมีเงิน มีตำแหน่ง มีฐานะที่ดี ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ได้ทำประโยชน์ มีคุณค่าและความหมายต่อคนอื่น ซึ่งกว่าจะถึงจุดที่เรารู้สึกดีกับตัวเองได้ แปลว่าเราต้องมีความสุข พอใจกับสิ่งที่ทำ และสิ่งที่ทำนั้นก็เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ได้ช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับคนอื่น ได้แก้ปัญหาให้กับองค์กรและประเทศชาติ หรือได้มีโอกาสในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เรามีให้กับคนอื่น"
สำหรับการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นนั้น เธอให้ความสำคัญกับการ “สร้างคน” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย เพราะการสร้างคนไม่ได้มีรูปแบบสำเร็จ เปรียบเสมือนกับการตัดเสื้อผ้า ที่ต้องวัดตัวสั่งตัด เพราะแต่ละคนต่างมีจุดเด่น จุดด้อย และความต้องการที่ไม่เหมือนกัน
"พอขึ้นเป็นผู้บริหารหรือเป็นหัวหน้างาน เปรียบเสมือนเราเป็นโค้ช เราต้องจัดสรรมอบหมายงาน และดูแลงาน ถ้าเราลงมือทำงานต่าง ๆ เอง ลูกน้องในทีมก็จะไม่เก่ง ไม่ได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง อีกทั้งยังหมายถึงว่า เรากำลังใช้ศักยภาพแบบผิด ๆ เป็นการทำร้ายลูกน้อง ทำร้ายตัวเอง รวมถึงทำร้ายองค์กรอีกด้วย"
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)