Metals Focus รายงานว่า ความต้องการทองคำจากจีนช่วยชดเชยการปรับตัวลดลงของความต้องการทองคำจากประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดสำคัญ อ้างอิงจากข้อมูลการค้าของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการสกัดทองคำ ดังนั้น สถิติการค้าของสวิสจึงเป็นเสมือนมาตรวัดปริมาณความต้องการทางกายภาพทั่วโลก
นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน การส่งออกทองคำของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปีสู่ระดับ 478 ตัน โดย Metals Focus กล่าวในรายงานว่า การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายตัวของความต้องการทองคำที่แข็งแกร่งจากจีน นอกจากนี้ การส่งออกทองคำไปยังฮ่องกง และจีนรวมกันในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 43 ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 46% และกลายเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.
ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สวิสส่งออกทองคำไปยังประเทศจีนรวมกัน 172 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 65% อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นเป็นผลมาปริมาณการส่งออกของปี 2017 อยู่ในระดับต่ำมากเป็นผลมาจากกฎระเบียบของธนาคารกลางจีนมีความเข้มงวดอย่างมากในการนำเข้าทองคำ ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าของจีนชะลอตัวลงชั่วคราวในช่วงต้นปี 2017 อีกปัจจัยบวกสำหรับความต้องการทองคำทางกายภาพ คือ การบริโภคทองคำในภาคเครื่องประดับของจีนที่ปรับตัวสูงขึ้น นักวิเคราะห์กล่าวว่า ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ถึงกระนั้น การส่งออกทองคำของสวิสไปยังประเทศอื่นๆ ยกเว้นประเทศจีนกลับลดลงเกือบหนึ่งในสาม โดยยอดการส่งออกทองคำของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปยังอินเดียอยู่ที่ 80 ตันในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่ง Metals Focus รายงานว่า เป็นระดับที่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของยอดรวมจากช่วงเดียวกันของปี 2017 ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ความต้องการทองคำของอินเดียร่วงลงอย่างหนัก ประการแรก คือ อินเดียได้นำเข้าทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ภาษี GST ทำให้มีทองคำอยู่ในสต๊อกส่วนหนึ่งแล้ว ประการที่สอง คือ ยอดขายเครื่องประดับ และการลงทุนลดลงในในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ความต้องการของอินเดียกลับมาเพิ่มขึ้นบ้างในเดือนเมษายน ในช่วง Akshaya Tritiya ซึ่งถือเป็นวันมงคลวันหนึ่งในการซื้อทองคำของอินเดีย
ขณะที่การส่งออกทองคำของสวิตเซอร์แลนด์ในปีนี้ไปยังตลาดทองคำทางกายภาพอื่นๆ โดยรวมก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน Metals Focus กล่าวว่า ความซบเซาในตะวันออกกลางเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และความต้องการทองคำแท่งในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยในยุโรปก็ปรับตัวลดลง ในท้ายที่สุด น่าสังเกตว่า การส่งออกทองคำของสวิสไปยังสหราชอาณาจักรยังคงอยู่ที่ระดับต่ำที่ 7 ตัน บ่งชี้ถึงความสนใจในทองคำของนักลงทุนสถาบันที่ยังซบเซา
ภาพรวมของปริมาณความต้องการทองคำด้านกายภาพในหลายประเทศโดยเฉพาะอินเดียยังคงซบเซา เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ยังคงสดใส ส่งผลให้ชาวจีนมีรายได้ และความมั่งคั่งมากขึ้น อาจช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำ และความต้องการทองคำจากจีนซึ่งจะช่วยชดเชยการปรับตัวลดลงของความต้องการทองคำด้านกายภาพในตลาดสำคัญๆ ส่วนอื่นได้ในที่สุด
วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล