“สภาวิศวกร” ค้านให้ใบอนุญาตวิศวกรต่างชาติทำงานในประเทศไทย ชี้วิชาชีพวิศวกรควรเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย อ้างเหตุผลทางด้านความปลอดภัยของประชาชน และการมีมาตรฐานวิชาชีพกำกับอยู่ แนะหากการขาดแคลนวิศวกร อาจพิจารณาให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้เท่าที่จำเป็น เฉพาะส่วนงานที่ขาดแคลน หรือที่ต้องการความรู้เฉพาะทาง แต่ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐาน ต้องขอรับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรพิเศษ จากสภาวิศวกรก่อน แหล่งข่าว เผยมุมมองกลุ่มวิชาชีพวิศวกร ยังกังวลจะถูกวิศวกรต่างชาติแย่งงาน แจงมุมผู้ประกอบการ เชื่อเปิดรับวิสวกรต่างชาติทำงาน เพิ่มทางเลือกมากขึ้น
ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการอนุญาตให้ต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยใน 12 อาชีพนั้น ซึ่งรวมถึงงานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ด้วยนั้น สภาวิศวกรเห็นว่า เนื่องจากงานในสาขาวิศวกรรมโยธา เป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ที่จะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโยธา จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมจากสภาวิศวกร เนื่องจากเป็นงานที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และสาธารณะ ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพนี้ จึงต้องมีมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ จบการศึกษาในหลักสูตรที่สภาวิศวกรรับรอง และต้องทำงานภายใต้จรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ฎ. การกำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 กำหนดบัญชีอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับการออกแบบ และคำนวณ จัดระบบ งานวิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ ซึ่งเห็นว่า ควรกำหนดไว้ตามเดิม เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัยของประชาชนและการมีมาตรฐานวิชาชีพกำกับอยู่
“ในกรณีที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือต้องการรับถ่ายโอนเทคเทคโนโลยีจากต่างชาติ หรือในกรณีที่ประสบปัญหาการขาดแคลนวิศวกร ก็อาจพิจารณาให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้เท่าที่จำเป็น เฉพาะตรงส่วนงานที่ขาดแคลน หรือที่ต้องการความรู้เฉพาะทาง แต่จะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐาน และต้องเข้ามาขอรับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรพิเศษจากสภาวิศวกรเสียก่อน”
แหล่งข่าวจากบริษัทรับสร้างบ้าน กล่าวว่า มองในมุมของกลุ่มวิชาชีพวิศวกรก็คือ ยังกังวลว่าจะถูกวิศวกรต่างชาติที่เก่งกว่ามาแย่งงาน เช่น วิศวกรจากประเทศแถบยุโรป, สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์ รวมทั้งกังวลว่าวิศวกรที่ค่าจ้างถูกกว่ามาแย่งงาน เช่น วิศวกรจากประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนในมุมผู้ประกอบการ เชื่อว่าน่าจะพอใจ เพราะว่ามีทางเลือกมากกว่า โดยเฉพาะนักลงทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น จีน หรือประเทศในแถบยุโรป และอเมริกา ที่เข้าลงทุนเขาก็อยากได้วิศวกรที่มีความเป็น Professional และอินเตอร์มากกว่า หรือใช้วิศวกรของเขาเอง (ไม่ต้องมาใช้วิศวกรไทยเป็นนอมินี เหมือนที่เป็นข่าว) ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันของวิศวกรไทย และต่างชาติ ทั้งในแง่ความรู้ความสามารถ และค่าวิชาชีพที่ถูกกำหนดไว้ โดยสภาวิชาชีพวิศวกรในปัจจุบัน”
“ส่วนเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ส่วนตัวมองว่าเป็น..วาทกรรม จริงๆ แล้วก็คือ เป็นข้ออ้างที่ใช้ปกป้องอาชีพของกลุ่มมากกว่าโดยมีกฎหมายคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา และปัจจุบันอาจจะปกป้อง หรือกีดกันได้ก็ตาม แต่ในอนาคต เชื่อว่าไม่อาจกีดกันได้ ด้วยการค้า และทุนเสรีที่จะบังคับให้เปิดกว้าง และเชื่อมโยงกัน”