xs
xsm
sm
md
lg

จากหุ้น “ตี๋ย้ง” สู่ยักษ์ BTS / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัปดาห์ก่อน นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ออกมาประกาศถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัทในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยแสดงความมั่นใจว่า รายได้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 25% จากปัจจุบันที่มีรายได้ปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท



การประกาศถึงอนาคตการดำเนินการที่สดใส จะไม่เกิดขึ้นเฉพาะ BTS เท่านั้น แต่บริษัทในเครือ ประกอบด้วย บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U และ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ซึ่ง BTS ถือหุ้นใหญ่จะก้าวไปพร้อมกัน โดยนายคีรีกำหนดแผนทางธุรกิจของแต่ละบริษัทไว้แล้ว


วันนี้ BTS เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี อนาคตสดใส พร้อมเข้าประมูลระบบขนส่งมวลชนทุกโครงการ แม้จะเป็นโครงการลงทุนหลายแสนล้านบาทก็ตาม โดยมีพันธมิตรมากมายที่พร้อมจะร่วมลุย


ส่วน VGI ที่ดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านและธุรกิจบริการด้านดิจิทัล สามารถสร้างผลกำไรได้ต่อเนื่อง จ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ


มีเพียง U ที่ดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ที่ผลประกอบการยังย่ำแย่ ขาดทุนหลายปีติดต่อ แต่นายคีรียืนยันว่า ปีนี้ผลประกอบการจะฟื้นตัวกลับ


จากเจ้ามือหุ้นตี๋ย้งที่แทบตกอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แต่ปัจจุบัน

นายคีรีก้าวขึ้นมาอยู่ในฐานะ เจ้าพ่อรถไฟฟ้าอย่างเต็มตัวความภาคภูมิแล้ว หลังจากฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจปี 2540 จนรอดมาได้


BTS เปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) หรือ TYONG หรือหุ้นตี๋ย้ง ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553


TYONG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนในราคา 133 บาท จากพาร์ 10 บาท และเป็นหุ้นร้อน เก็งกำไรกันสนั่นหวั่นไหว ราคาเคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 544 บาท เมื่อวัน 19 มิถุนายน 2534 ก่อนปรับฐานลง จนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540


บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้ง TYONG ซึ่งมีปัญหาด้านฐานะทางการเงิน จนต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ โดยราคาปิดครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 1 บาท ก่อนถูกพักการซื้อขายวันที่ 7 กันยายน 2545


หลังจากสามารถฟื้นฟูกิจการสำเร็จ หุ้นกลับมาซื้อขายใหม่ภายใต้ชื่อ BTS และกลับมาเป็นหุ้นเก็งกำไรยอดนิยมอีกครั้ง เพียงแต่ความเคลื่อนไหวของราคาไม่หวือหวาเหมือนยุคที่เป็นหุ้น “ตี๋ย้ง”


นายคีรีเคยเล่นเกมพิสดารกับหุ้นตี๋ย้ง ประกาศทำรายการ แชร์แมนเดทเป็นครั้งแรก โดยออกหุ้นเพิ่มทุน แลกกับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เช่น หุ้นบริษัทเงินทุน เอกธนกิจ จำกัด หรือ FIN-1 ของนายปิ่น จักกะพาก หุ้นธนาคารไทยทนุ ซึ่งถูกสั่งปิดแล้ว และหุ้นบริษัท โรงแรมราชดำริ หรือ โรงแรมโฟร์ซีซันในปัจจุบัน


แต่ตลาดหลักทรัพย์ ฯ ไม่อนุมัติแผนการแลกหุ้นของนายคีรี และประกาศห้ามบริษัทจดทะเบียนทำรายการแชร์แมนเดท จึงมีเพียง TYONG ริเริ่มเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ

หุ้นตี๋ย้ง ทำให้นักลงทุนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่เมื่อกลับมาแจ้งเกิดใหม่ในชื่อ BTS หุ้นตัวนี้ยังไม่มีประวัติทำให้ใครต้องบาดเจ็บหนัก

แต่เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง ปันผลดี แนวโน้มผลดำเนินงานสดใส


ยามที่รุ่งเรืองสุดขีด สมัยที่ยังเป็นหุ้นตี๋ย้ง จำนวนผู้ถือหุ้นมีเพียงระดับพันราย แต่ปัจจุบัน BTS มีผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 79,295 รายขณะที่ U มีผู้ถือหุ้น 29,449 ราย และ VGI มีผู้ถือหุ้นจำนวนถึง 10,281 ราย รวมจำนวนผู้ถือหุ้นในกลุ่ม BTS มีจำนวนทั้งสิ้น 119,025 ราย


ยังไม่นับรวมผู้ถือหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG จำนวน 4,776 ราย ซึ่ง U เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 และ BTS ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการบริษัท

ย้อนหลังไปเกือบ 30 ปีก่อน นักลงทุนนับพันราย เคยฝากชะตากรรมไว้ภายใต้กำมือของนายคีรี แต่ทุกคนแทบต้องสิ้นเนื้อประดาตัว


วันนี้นักลงทุนจำนวน 119,025 ราย กำลังฝากชะตากรรมไว้กับ BTS อีกครั้ง ภายใต้ความหวังว่า คีรี กาญจนพาสน์ จะไม่ทำให้ถือหุ้นต้องผิดหวังซ้ำสอง ซ้ำรอยหุ้นตี๋ย้งในอดีต

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )


กำลังโหลดความคิดเห็น