กนง. เล็งปรับเพิ่มจีดีพี ปี 61 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.1% หลังสัญญาณเศรษฐกิจดี พร้อมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยมีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม ระบุเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงภายนอก จับตาผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ มาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ กนง. ประจำวันที่ 16 พ.ค. 2561 ว่า แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ว่า คณะกรรมการ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม โดยคณะกรรมการ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศ และอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น และดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากแรงส่งจากทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และจะรอติดตามตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปีนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันจันทร์ที่ 21 พ.ค. นี้ หากออกมาดีกว่าที่คาดไว้ ก็มีแนวโน้มที่ กนง. จะปรับจีดีพีขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.1%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน
“คณะกรรมการเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้” นายจาตุรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะปรับประมาณการราคาน้ำมันเพิ่ม แต่การที่เงินเฟ้อฟื้นช้ามาจากอาหารสดที่ราคาต่ำจากปริมาณผลผลิตมาก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทปรับอ่อนค่าลง แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มผันผวน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลัง และการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป