ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะติดตามแผนบริหารหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ดัน Bond Yield เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมรอบสามของปีนี้ (1-2 พ.ค.61) ทั้งนี้ เฟดน่าจะยังรอประเมินพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งพัฒนาการประเด็นความเสี่ยงด้านการค้าที่น่าจะมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะมีการส่งสัญญาณถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป
ขณะที่พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อาจจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทย และช่วยให้ค่าเงินบาททยอยปรับอ่อนค่าลง ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามคงได้แก่ การประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เหตุที่เชื่อว่าเฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากในรายงานเศรษฐกิจของเฟดเดือนเมษายน 2561 เฟดได้มีการระบุถึงความกังวลจากผลกระทบของมาตรการกีดดันการค้าที่อาจจะกระทบต่อภาพรวมของการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยผลของมาตรการกีดกันการค้าที่สหรัฐฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่มีการขึ้นภาษีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจต่างก็คาดการณ์ว่าราคาสินค้าดังกล่าวจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยภายใต้สถานการณ์ที่สหรัฐฯ มีความพยายามที่จะปรับลดการขาดดุลการค้ากับหลายๆ ประเทศ อาจส่งผลให้โอกาสที่สหรัฐฯ จะขยายการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารายการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในปลายเดือนพฤษภาคม 2561
"หากการเจรจาในการปรับลดการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะส่งผลให้พัฒนาการของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้ออาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว อันคงเป็นปัจจัยที่เฟดคงจับตามองอย่างใกล้ชิด" เอกสารเผยแพร่ระบุ
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อาจจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ เช่น เครื่องชี้ในตลาดแรงงานยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง โดยการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนมีนาคม 2561 ปรับเพิ่มขึ้น 103,000 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของการปรับขึ้น 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 202,000 อันสูงกว่าระดับการปรับเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในระยะยาวของเฟดที่ 100,000 ตำแหน่งต่อเดือนค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ หากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรยังคงเกิดขึ้นในขนาดปัจจุบัน อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีอาจจะไปอยู่ที่ระดับ 3.6-3.7% ขณะที่ค่าจ้างรายชั่วโมงมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น อันคงจะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้
นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 2.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 2.2% ขณะที่คาดการณ์การเงินเฟ้อระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ระดับ 2.17% อันเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี นอกจากนี้ ผลจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ อาจจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีมากขึ้นในระยะข้างหน้าจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิต หากสหรัฐฯมีการขยายขอบเขตการใช้มาตรการดังกล่าวออกไป
ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มที่แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ยังคงสนับสนุนให้เฟดสามารถที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
"ปัจจัยที่ต้องติดตามคงได้แก่ การประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้" เอกสารเผยแพร่ระบุ
สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนบางส่วนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร และมีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาททยอยปรับอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินของไทย โดยเฉพาะการระดมทุนในตลาดทุนอาจจะมีต้นทุนที่ทยอยขยับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่อาจะสร้างความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายคงมีมากขึ้นในระยะข้างหน้า
"อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศ น่าจะยังสามารถทรงตัวในระดับปัจจุบัน ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คงจะทรงตัวอีกระยะ และสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ปัจจัยที่ต้องติดตาม คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ข้อพิพาทการค้าของสหรัฐฯ นอกเหนือจากการส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และการประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ที่อาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องมีการวางแผนในการระดมเงินทุน หรือมีการปรับโครงสร้างของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ให้มีระยะเวลายาวนานขึ้น เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินในช่วงที่ต้นทุนในการระดมทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำ