ผู้บริหาร บมจ. เอสซีไอ อีเลคตริค มั่นใจผลงานปี 61 เติบโต ลุ้นคว้างานใหญ่ทั้งและต่างประเทศ ล่าสุด ตุนงานในมือกว่า 400 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง คาดโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าในพม่า เริ่มเปิดให้บริการไตรมาส 3/61 หนุนรายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้านผู้ถือหุ้นเตรียมรับปันผลหุ้นละ 5 สตางค์ 25 พ.ค. นี้
นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 27 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมและกำไรสุทธิ ของบริษัทในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท โดยกำหนดจ่ายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานรายได้ให้กับบริษัทฯ ผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น
ในส่วนของการลงทุนในประเทศในปีนี้จะมีการลงทุนของบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท ทียูทิลิตี้ส์ จำกัด หรือ TU ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง SCI และบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF โดย SCI ถือหุ้น 45% เพื่อลงทุนในพลังงานทดแทน และสาธารณูปโภคต่างๆ
โดยในปีนี้ TU มีเป้าหมายรับงานโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้ว 4 เมกะวัตต์ โดยกำลังทยอยจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ส่วนที่เหลือ คาดว่าจะทยอยติดตั้งในปีนี้ และปีหน้า ส่วนโครงการอื่นๆ ยังคงอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ โดยน่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้
ปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้จากในประเทศ (Backlog) ประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งเป็นงานเสาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานสวิตซ์บอร์ด
ในส่วนของธุรกิจเสา และสวิตซ์บอร์ดในปี 2561 คาดว่ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้บริษัทฯพยายามจะขยายตลาดเสาส่งไฟฟ้า และโทรคมนาคม ไปยังพม่า รวมถึงงานรับเหมา EPC ด้วยเช่นกัน หากได้งานที่เมียนมา ก็จะช่วยเสริมสร้างรายได้ และกำไรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการขยายฐานรายได้ และกระจายความเสี่ยงธุรกิจ
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และเสาสื่อสารโทรคมนาคม และชุบกัลป์วาไนซ์ ที่พม่า คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดโรงงานได้ในช่วงไตรมาส 3/61 และจะเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 61 เป็นต้นไป โดยเน้นขายภายในประเทศเป็นหลัก
นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเตมว่า ธุรกิจเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในพม่า มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งภาคเอกชนก็เร่งขยายเครือข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ล่าสุด SCI ได้จับมือกับพันธมิตรในพม่า และจีน เพื่อพัฒนาโครงการสายส่งร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยบริษัทฯ ต้องการที่จะเข้าไปรับงาน EPC ในพม่า เช่นเดียวกับที่ทำใน สปป.ลาว ซึ่งหากเจาะตลาดในพม่า ได้สำเร็จ บริษัทจะกลายเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้รับเหมา ซึ่งงานทั้ง 2 ด้านมีการเกื้อหนุนกัน ผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงในอนาคต