xs
xsm
sm
md
lg

“ติดดอย” หุ้น TTCL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TTCL จำนวน 7,231 ราย กำลังว้าวุ่น ไม่รู้ตัดสินใจอย่างไรดีกับหุ้นตัวนี้ จะขายทิ้งก็ยอมรับขาดทุนไม่ได้ จะถือต่อก็กลัวราคาทรุดหนักลงไปอีก



TTCL เป็นหุ้นพื้นฐานแน่นมาตลอด ผลประกอบการเติบโตหลายปีติดต่อกัน จ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้งมาสม่ำเสมอ แม้ค่า พี/อี เรโชจะสูง แต่กำไรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นหุ้นที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน


ราคาหุ้น TTCL เคลื่อนไหวอย่างราบเรียบมานาน กระทั่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 บริษัท โตโย เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TEC ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ถือหุ้น TTCL ทั้งสิ้น 56 ล้านหุ้น หรือถือในสัดส่วน 10 % ของทุนจดทะเบียน ได้ทำข้อตกลงขายหุ้นทั้งหมดให้ โนมูระ อินเตอร์เมทอนอล เอชเค จำกัด


และรายงานการขายหุ้นให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้ ราคาหุ้น TTCL ทรุดลงต่อเนื่อง


วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ราคาหุ้น TTCL ปิดที่ 21.30 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 0.50 บาท โดยไม่ได้แสดงอาการว่า จะมีข่าวร้ายผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้นทิ้งแต่อย่างใด


แต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ราคาหุ้นเริ่มออกอาการซึมซับข่าวร้ายที่อาจเป็นที่รับรู้จากคนภายในบริษัทฯ โดยราคาหุ้นปิดที่ 20.80 บาท/หุ้น ลดลง 0.50 บาท และเป็นวันเริ่มต้นของ “ขาลง” หุ้นตัวนี้


เพราะหลังจากนั้น ราคาลดลง จนล่าสุดวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2561 ปิดที่ 7.60 บาท/หุ้น โดยภายในเวลาเพียง 1 เดือนครึ่ง ราคาลดลง 13.70 บาท หรือ ลดลงกว่า 60%



บริษัท โตโย เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระบุว่า การขายหุ้น TTCL ที่ถืออยู่ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งฐานทางการเงินของบริษัท ฯ

แต่ปมที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ บริษัท โตโย ฯ ได้ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด ก่อนที่ TTCL จะแจ้งผลดำเนินงานปี 2560 ซึ่งปรากฏว่า ยอดรายได้รวมทรุดฮวบ เหลือเพียง 10,994.78 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 มียอดรายได้รวม 20,358.10 ล้านบาท

ส่วนกำไรสุทธิลดวูบเหลือเพียง 52.56 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 มีกำไรสุทธิ 400.10 ล้านบาท


เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่ บริษัท โตโย เอ็นจิเนียริ่ง ฯ ตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมด จะเกี่ยวพันกับผลประกอบการ TTCL ทรุดฮวบ


หรือผลประกอบการ TTCL ที่ทรุดฮวบ เป็นตัวเร่งให้ โตโย เอ็นจิเนียริ่ง ฯ ตัดสินใจสละเรือ ล้างพอร์ต จากหุ้นตัวนี้


และการตัดสินใจล้างหุ้น TTCL ออกจากพอร์ต จะมีประเด็น อินไซเดอร์เทรดดิ้ง หรือการนำข้อมูลภายในมาใช้ประโยชน์จากการซื้อ ขายหรือไม่ เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปหรือไม่


เพราะการขายหุ้น เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงการประกาศผลประกอบการของ TTCL


ถ้าการขายหุ้นเกิดจากการรู้ว่า ผลประกอบการบริษัท ฯ จะทรุดลง เป็นเรื่องที่นักลงทุนอาจต้องทบทวนการลงทุนหุ้นตัวนี้

เพราะโตโย เอ็นจิเนียริ่ง ฯ อาจรู้ข้อมูลวงในที่ลึกมากกว่า ผลประกอบการปี 2560 เท่านั้น แต่อาจเห็นว่าอนาคต TTCL ไม่สดใสแล้ว ผลประกอบการอาจชะลอตัวต่อเนื่อง จึงตัดสินใจเผ่นก่อน ชิงขายหุ้นทิ้ง โกยกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นประมาณ 2,400 ล้านเยน เข้ากระเป๋า


ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อย “รับเละ” ไป


หลังจากโตโย เอ็นจิเนียริ่ง ฯ ขายหุ้นในสัดส่วน 10 % ของทุนจดทะเบียนทิ้ง ปรากฏว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้น แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะไม่มีใครเข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 10 % แทนโตโย เอ็นจิเนียริ่ง แสดงว่า หุ้นที่ขาย ถูกกระจายไปสู่มือนักลงทุนรายย่อยมากกว่า


อีกไม่กี่วัน TTCL จะประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อย ต้องจับตาดูงบการเงินที่ออกมาเป็นพิเศษ

เพราะอาจจะเป็นคำตอบว่า การขายหุ้นของกลุ่มโตโย เอ็นจิเนียริ่ง ฯ ใช้เพราะอินไซด์หรือไม่ นอกจากนั้นยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรดีกับหุ้นตัวนี้

ถ้าผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาแย่  TTCL อาจถูกถล่มอีกรอบ รายย่อยที่  “ติดหุ้น”อยู่คางเหลืองแน่ ๆ

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )


กำลังโหลดความคิดเห็น