xs
xsm
sm
md
lg

“TFEX” การลงทุนบนเส้นขนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าตลาด TFEX เป็นตลาดที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ตลอดช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2014 มียอดปริมาณการซื้อขายรวมกว่า 36,021,150 สัญญา ขณะที่ปี 2015 ปริมาณยอดการซื้อขายรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 48,538,899 สัญญา ส่วนปี 2016 ปริมาณยอดการซื้อขายรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 69,576,164 สัญญา และปี 2017 มีจำนวนปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 78,990,574 สัญญา

จากสถิติสะท้อนให้เห็นว่า มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าลงทุนในตลาดอนุพันธ์ต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะมีโอกาสสร้างกำไรได้สูงด้วยต้นทุนต่ำ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ลงทุนบางส่วนเลือกที่จะใช้การลงทุนประเภท Options เพราะสามารถกำหนดกรอบขอบเขตของการขาดทุน แต่ยังสร้างกำไรได้อยู่ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถใช้เครื่องมือทั้ง 2 ส่วน มารวมกันเพื่อทำกลยุทธ์ และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ

นายเจตอาทร สองเมือง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Quantitative บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ก่อนอื่นผู้ลงทุนต้องเข้าใจถึงโครงสร้างของ Futures ก่อนว่าอนุพันธ์ คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีมูลค่าในตัวเองซึ่งต้องอ้างอิงสินทรัพย์อื่น และอนุพันธ์ คือ การตกลงราคากันในวันนี้ แต่ยังไม่มีการส่งมอบในทันที

“ฟิวเจอร์ส คือ การทำสัญญาล่วงหน้าว่าจะซื้อหรือจะขาย โดยผู้ที่ต้องการซื้อหรือขายจะทำสัญญาซื้อขายในวันนี้ แต่จะส่งมอบสินค้ากันแท้จริงในอนาคต เช่น อีก 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีฟิวเจอร์ส เกิดขึ้นในช่วงที่มีความนิยมซื้อขายดอกทิวลิปในต่างประเทศ พ่อค้ามักทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้ก่อนที่จะรับสินค้าจริง”

ข้อดีของ Futures คือ สามารถซื้อขายทำกำไรได้ทันที ไม่ต้องรอให้เกิดการส่งมอบขึ้นจริงก็ได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทำกำไรได้ทั้งช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกเปิดสัญญาได้ 2 สถานะ คือ ซื้อล่วงหน้า (Long) หรือขายล่วงหน้า (Short) ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องวางหลักประกัน (มาร์จิ้น) เพื่อป้องกันการบิดพลิ้วสัญญา การซื้อขายฟิวเจอร์สมีข้อได้เปรียบมากกว่าตลาดหุ้น ตรงที่ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรได้ทุกขณะตามที่ต้องการ ไม่ต้องรอจนสัญญาหมดอายุ แต่ข้อเสียของตลาดฟิวเจอร์ส คือ ต้องการความผันผวนของราคาที่สูงเพื่อสร้างกำไร

ขณะที่ Options นั้นเริ่มมีความนิยมมากขึ้นในระยะหลัง เพราะการซื้อขาย Options ในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นเคลื่อนไหวน้อย หรือไม่มีทิศทาง (Sideways) Options จะมีโอกาสสร้างกำไรได้ดีกว่า Futures แต่ Options มีจุดเสียเปรียบเพราะมีมูลค่าทางเวลา (Time Decay) ซึ่งจะมีผลต่อความถูกหรือแพงของราคา ต่างจาก Futures ที่ไม่มีการซื้อขาย Options และ Futures สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ เช่น ถ้ามองว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้น ให้ Long Futures พร้อมกับ Short Put Options เอาไว้ด้วย ถ้าดัชนีทรงตัว หรือปรับเพิ่มขึ้นผู้ลงทุนจะได้รับกำไร ข้อดีของการ Short Put Options ช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับค่าพรีเมี่ยมจากผู้ลงทุนที่เปิดสถานะ Long Put Options และได้รับกำไรจากการ Long Futures

ด้าน นายจรณเวท ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายผู้แนะนำการลงทุน บริษัท คลาสสิก ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวเสริมว่า พื้นฐานของ Options จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ฝั่ง Call สิทธิในการซื้อ และฝั่ง Put สิทธิในการขาย ผู้ลงทุนสามารถซื้อ (Long) หรือขาย (Short) ได้ทั้งสิทธิในการซื้อและสิทธิในการขาย หากจะเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น คือ ผู้ลงทุนที่ Long Options เหมือนผู้ซื้อประกัน ส่วนคน Short เหมือนกับคนขายประกัน

“การลงทุนใน Options ก็เหมือนกับการซื้อประกัน หากผู้ลงทุนเลือก Long Options ผู้ลงทุนมีโอกาสได้กำไรไม่จำกัด แต่หากดัชนีปรับตรงข้ามกับประเภท Options ที่ถือครอง ผู้ลงทุนจะขาดทุนมากที่สุดเท่ากับเงินลงทุนที่ซื้อ Options เอาไว้”

สถานะสัญญาใน Options แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ
1.Long Call Options ผู้ลงทุนจะได้กำไรหากตลาดปรับเพิ่มขึ้น แต่จะขาดทุนหากตลาดหุ้นปรับตัวลดลง

2.Short Call Options กำไรจะเกิดขึ้นจาก ตลาดหุ้นทรงตัว หรือตลาดหุ้นปรับตัวลดลง แต่จะขาดทุนหากตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น

3.Long Put Options จะได้รับผลตอบแทนหากดัชนีปรับตัวลดลง แต่จะขาดทุนหากตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น และ  
4.Short Put Options จะได้กำไรหากตลาดหุ้นทรงตัว หรือมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่จะขาดทุนเมื่อตลาดปรับตัวลดลง

ข้อดีของการซื้อขาย Options คือ ผู้ลงทุนสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะต่อกลยุทธ์ได้หลายรูปแบบ ส่วนมุมมองด้านมูลค่าตามเวลา (Time Decay) นั้น ส่วนตัวมองว่า เป็นเสน่ห์ของ Options เพราะมีบางคนได้ประโยชน์จากเวลาที่ลดลง

“การนำ Options ไปใช้สถานการณ์ปัจจุบัน ผมมองว่า ตลาดหุ้นอาจจะปรับตัวลดลงแรงได้จากสัญญาณทางเทคนิคที่ดัชนี SET50 ไม่สามารถทำจุดสูงสุดได้ในรอบที่ผ่านมา รวมทั้งค่าความผันผวนปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจใช้กลยุทธ์ Short ใน Futures พร้อมกับการ Long Put Options เพื่อคาดหวังผลตอบแทนกรณีดัชนีร่วงลง เพียงเท่านี้ผู้ลงทุนก็สามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพิ่มผลตอบแทน หรือบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของมุมมองนักลงทุนนั้น นายจุติ เสนางคนิกร ได้แนะนำการลงทุนว่าปริมาณการซื้อขายในตลาด TFEX เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความนิยมในตลาดซื้อขายล่วงหน้าแต่ละสินค้า ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักใช้เพื่อประเมินว่าควรจะเข้าไปซื้อขายหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการซื้อขาย หากไม่มีสภาพคล่องการซื้อขายอาจทำให้ไม่ได้ต้นทุนตามที่ต้องการ แต่ก็มีผู้ลงทุนบางกลุ่มสามารถนำปริมาณการซื้อขายมาประเมินเพื่อสร้างกำไรได้อย่างไม่คาดคิด ซึ่งผู้ที่จะชนะทำกำไรในตลาด TFEX ได้นั้นต้องกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจน และทำตามแผน กลยุทธ์หนึ่งที่ได้ผลดี คือ การศึกษาปริมาณการซื้อขายประกอบการลงทุน

“การซื้อขายในตลาด Futures สิ่งสำคัญ คือ ผู้ลงทุนต้องมีโครงสร้างพอร์ตชัดเจน ต้องทำโครงสร้างการลงทุนที่แข็งแกร่ง มีกลยุทธ์เหมาะสม เพียงเท่านี้การซื้อขายของเราก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่จัดโครงสร้างการลงทุนให้ชัด เท่ากับว่าเราจะไม่ทราบทิศทางการลงทุน”

การซื้อขาย SET50 Futures ในปัจจุบัน ผู้ลงทุนจะเน้นเรื่องของการวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นหลักโดยข้อมูลที่ผู้ลงทุนต้องนำมาใช้ร่วมกับการเทรด คือ 1.ราคา 2.ปริมาณการซื้อขาย 3.เวลาที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคนิค (ไทม์เฟรม) และ 4.จำนวนสัญญาคงค้าง (Open Interest : OI) ของแต่ละซีรีส์

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่มีความรู้ด้านเทคนิคมาแล้วส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อราคาเท่านั้น ไม่สนใจปริมาณการซื้อขาย และไทม์เฟรม ทั้งที่การวิเคราะห์ที่ถูกต้องควรใช้ข้อมูลอย่างน้อย 3 ส่วนมาเชื่อมโยงกัน

หนึ่งในเทคนิคการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่ได้รับความนิยมทำได้ง่าย และผู้ลงทุนสามารถนำไปปรับใช้ได้ นั่นก็คือ การทำกำไรจากการอ่านปริมาณการซื้อขาย หรือ Volume Analysis ซึ่งมีที่มาจาก “ทฤษฎีดุลยภาพการซื้อขาย” ที่กล่าวว่า ปริมาณการซื้อขายมีผลกระทบต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญ

โดยแนวคิดพื้นฐานของทฤษฏีนี้เชื่อว่า ราคาสินค้าต้องมีปริมาณการซื้อขายที่เท่ากันในเวลาเดียวกันบนระนาบเดียวกันเสมอ ถึงจะรักษาทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงของราคาได้อย่างมีเสถียรภาพหากปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไป และเกิดภาวะ False Break (การเบรกหลอก) ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าราคากำลังจะเปลี่ยนแนวโน้มในไม่ช้า

ยกตัวอย่าง ถ้าราคา SET50 Futures ปรับตัวลดลง และทำจุดต่ำสุดใหม่ แต่ปริมาณการซื้อขายยังคงที่ ทิศทางของราคาก็จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่หากปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% และเกิดภาวะ False Breakขึ้น จะเข้าเงื่อนไขสัญญาณราคากลับทิศทาง และเป็นการเปลี่ยนแนวโน้มของราคา จากเดิมที่เป็นขาลงก็จะเปลี่ยนเป็นจุดเริ่มต้นของขาขึ้น

ความยากของการใช้เทคนิคนี้ คือ ผู้ลงทุนต้องนำปริมาณการซื้อขายมาเปรียบเทียบให้เหมาะสมต่อช่วงเวลา หรือไทม์เฟรม เพราะแต่ละสินค้าในตลาด TFEX รวมถึงหุ้น มักจะใช้ไทม์เฟรมที่ต่างกัน ผู้ลงทุนต้องหาไทม์เฟรมที่มักจะเกิดจุดกลับทิศของราคา ในบางสินค้าอาจใช้ไทม์เฟรม 15นาที ไทม์เฟรม 10 นาที ผู้ลงทุนต้องหาไทม์เฟรมที่มีการกลับทิศมากที่สุด โดยทำการทดสอบย้อนหลัง (Back Testing)

ผลสำเร็จของกลยุทธ์นี้ หากผู้ลงทุนสามารถจับจังหวะการซื้อขายได้ถูกต้อง สิ่งที่ผู้ลงทุนจะได้รับ คือ ผลตอบแทนในระดับที่สูง จากสถิติพบว่า หากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นการกลับทิศของราคาจะอยู่ที่ระดับ 50% ของจุดที่ปรับเพิ่มขึ้น หรือจุดที่ปรับลดลงของราคาในช่วงที่ผ่านมา

หลังจากราคาเปลี่ยนทิศทางแล้ว หากปริมาณการซื้อขายสามารถรักษาระดับเดิมได้ ผู้ลงทุนจะสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับปริมาณการซื้อขายอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในสัญญาณ False Break ที่เกิดขึ้นอาจมี False Break หลอก ซึ่งถือเป็นความยากของการหาจุดกลับตัว ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องกำหนดกลยุทธ์ หากพบจุดกลับตัว หรือจุดที่เหมาะสม โดยสามารถลงทุนได้ 50% ของเงินที่ต้องการลงทุนจนกว่าแนวโน้มของราคาจะชัดเจน

นอกจากกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณการซื้อขายที่นำมาใช้วิเคราะห์การเปลี่ยนทิศทางของราคาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถใช้หาทิศทางของราคาได้ นั่นก็คือ ดูจากการเปลี่ยนแปลงของ Mode Line ที่ผู้ลงทุนสามารถดูได้จากโปรแกรมซื้อขายออนไลน์

Mode Line คือ ข้อมูลที่จะบอกว่า ราคาที่มีการซื้อขายในแต่ละวันส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับเท่าไหร่ ซึ่งอาจใช้ดูเพื่อสะท้อนถึงราคาเฉลี่ยในแต่ละวัน โดยผู้ลงทุนสามารถนำ Mode Line มาเทียบกับราคาปิด ณ สิ้นวัน หากราคาเป็นเทรนด์ขาขึ้น ราคาปิดของ Futures หุ้น ดัชนี หรือสินค้านั้น ต้องอยู่เหนือราคา Mode Line เสมอ

ในทางกลับกัน หากราคาปิดต่ำกว่า Mode Line แสดงว่าราคาของ Futures หุ้น ดัชนี หรือสินค้านั้นยังเป็นขาลงอยู่ และหาก Mode Line เริ่มกลับทิศก็อาจแสดงถึงสัญญาณการกลับทิศของราคาได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การเทรด Mode Line ผู้ลงทุนควรซื้อขายทิศทางเดียวเท่านั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง

สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการหาจุดกลับตัว หรือหาทิศทางของราคาที่ชัดเจน สามารถนำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้เพื่อสร้างกำไรได้ในทุกสภาวะของตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดแบบไหน ทั้งสวิงเทรด หรือ Bull Market (ตลาดกระทิง) หรือ Bear Market (ตลาดหมี) ก็ได้

ขณะที่ น.ส.กนิษฐา รอดดำ นักลงทุนอิสระ ผู้มีประสบการณ์ซื้อขายในตลาดโตคอมมากกว่า 10 ปี กล่าวถึงมุมมอง และเทคนิคการจัดพอร์ตลงทุนในตลาด TFEX ว่า การซื้อขายในตลาด TFEX เป็นตลาดที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนอย่างมาก ด้วยจุดเด่นที่สามารถใช้อัตราทดทำให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรได้มากมาย ด้วยฐานทุนที่น้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น แต่หากมองอีกด้านอาจเป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่ามีโอกาสเสียหายสูงเช่นกัน การไม่มีกลยุทธ์การซื้อขายที่ดี รูปแบบไม่ชัดเจนเพียงพอ สามารถสร้างความเสียหายได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการซื้อขายคือ การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน บริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเสียหาย รักษาเงินต้น และสร้างผลกำไร โดยสิ่งสำคัญ คือ “การบริหารจัดการเงิน หรือ Money Management” นอกจากจัดพอร์ตให้มีกำไรแล้ว หัวใจสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้พอร์ตโตโดยไม่โอเวอร์เทรด

“ในการจัดพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น การหากลยุทธ์ทำกำไรอาจมีความสำคัญแค่ 10% แต่การบริหารจัดการเงินในทางกลยุทธ์ การลงทุนมีความสำคัญสูงถึง 30% ที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนหลายรายต้องการให้พอร์ตโตมากๆ และเปิดสถานะมากเกินไปจนพอร์ตมีปัญหา แม้ว่าจะได้กำไรมากแต่หากไม่เป็นไปตามที่เราคาดผู้ลงทุนจะบาดเจ็บอย่างหนัก”
 

สาเหตุที่เราต้องวางแผนในการจัดพอร์ตให้ดี เพราะตลาดทีเฟ็กซ์ ตลาดหุ้น และการลงทุนทุกประเภทล้วนมีความเสี่ยง ซึ่งความ เสี่ยงในการลงทุนมีอยู่ 2 แบบ คือ 1.ความเสี่ยงเฉพาะตัวบริษัทหรือสินค้า และ 2.ความเสี่ยงระบบ เป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนทุกคนต้องเจอเท่าเทียมกัน หากพิจารณาจากสถิติที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยสามารถปรับลดลงได้ 20% ในวันเดียว หากไม่เตรียมพร้อมอาจมีความเสี่ยงที่จะโดนบังคับปิดสถานะสัญญา ดังนั้น การบริหารพอร์ตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

วิธีควบคุมความเสี่ยงในตลาด TFEX ขั้นตอนแรกของการบริหารพอร์ตการลงทุน ผู้ลงทุนต้องวางเป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการ และความเสี่ยงที่รับได้ เช่น มีเงินลงทุน 2 ล้านบาท ต้องการผลตอบแทน 15% ต่อปี ยอมรับความเสี่ยงได้ 20% หรือหากซื้อขายผิดทาง 20% จะต้องตัดขาดทุน รวมถึงกันเงินสำรองไว้ 20% ไว้คอยเติมหากการลงทุนผิดจากแผน

การกำหนดเช่นนี้จะทำให้พอร์ตการลงทุนมีกลยุทธ์ชัดเจน เคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้ผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น คือ การนำกำไรจากการลงทุนมาทบต้นเพื่อลงทุนใหม่ จะทำให้พอร์ตเราเติบโตได้รวดเร็ว และสามารถเพิ่มจำนวนของสัญญาในการลงทุนต่อรอบ จากเดิมที่ลงทุนได้ 2 สัญญา เป็น 3 สัญญา โดยไม่โอเวอร์เทรดเกินไป

หลังจากนั้น จัดเงินลงทุนตามประเภทของสินค้าด้วยกลยุทธ์ “จัดพีระมิดการเงิน” เรียงลำดับตามความเสี่ยง เช่น หากมองว่าตลาดทีเฟ็กซ์มีความเสี่ยงมากที่สุด อาจลงทุน 10% ลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ DW 10% หุ้นเก็งกำไร 10% หุ้นพื้นฐานดีเก็งกำไร 35% และหุ้นพื้นฐานดีที่เติบโตสูง 35%

ความเสี่ยงในแต่ละสินค้ามีความแตกต่างกัน เช่น การซื้อขายหุ้น มีอัตราความเสี่ยง 1 ต่อ 1 หรือการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า จะมีความเสี่ยงสูงกว่า ซึ่งหากเราวางเงินประกันน้อยเกินไป อาจทำให้อัตราทดของสัญญาขึ้นไปที่ 1 ต่อ 20 เท่า ดังนั้น การเทรดในทีเฟ็กซ์จะต้องใช้หลักประกันที่เหมาะสม ป้องกันการถูกบังคับปิดสถานะสัญญา โดยควรจะวางเงินหน้าตักที่ 20% เป็นอย่างน้อย และเตรียมเงินไว้อีก 10% หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

สำหรับการเลือกหุ้นที่อ้างอิงในตลาดฟิวเจอร์ส ผู้ลงทุนต้องเลือกทั้งด้านปัจจัยพื้นฐาน และเทคนิค หลังจากนั้น จะได้หุ้นที่พื้นฐานดีเพื่อวางกลยุทธ์ในการซื้อขาย โดยควรจะเลือกหุ้นในการเทรดเพียง 3-5 ตัวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนต้องกำหนดจุดซื้อ จุดขายทำกำไร จุดหยุดขาดทุนที่ชัดเจน และต้องทำตามวินัยอย่างเคร่งครัด ผู้ลงทุนต้องมีการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนย้อนหลังว่า แผนการลงทุนของเรานั้นดีหรือไม่ อัตราการชนะหรือแพ้เป็นอย่างไร หากไม่ดีต้องหาจุดผิดพลาดในการซื้อขาย



กำลังโหลดความคิดเห็น