xs
xsm
sm
md
lg

HOTPOT ภายในมือ “เตชะอุบล” การเปลี่ยนแปลงแบบระลอกคลื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


23 ปีบนเส้นทางธุรกิจร้านสุกี้ และชาบูชาบู ของบริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) (HOTPOT) ได้เดินทางมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็น บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) (JCKH) หลังเริ่มมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่มาตั้งแต่ช่วงกันยายน 2559

ขณะที่เส้นทางบนตลาดทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งเริ่มเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อกันยายน 2555 พบว่า ราคาหุ้นในปัจจุบัน (4 เม.ย.) ลดลงร่วม 34% จากราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่บริษัทตั้งเสนอขายแก่นักลงทุนในช่วงเวลานั้น ที่ระดับ 2.80 บาท

แรกเริ่มที่เข้าตลาด HOTPOT มีทุนชำระแล้ว 101.50 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญเดิม 344.62 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 61.38 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท โดยเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 101.98 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 285.54 ล้านบาท โดยในครั้งนั้น จากสัดส่วนดังกล่าวมีการแบ่งขายให้กับกองทุน ออรีออส เซาท์ อีสท์ เอเชีย 40.60 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 113.68 ล้านบาท เพื่อนำเงินทุนที่ได้ไปใช้ขยายสาขาใหม่ และปรับปรุงสาขาเดิม ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

ขณะที่สัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่แรกเริ่ม ได้แก่ กลุ่มฤกษ์วิบูลย์ศรี ถือหุ้น 53.22% กองทุนออรีออส เซาท์ อีสท์ เอเชีย ถือหุ้น 13.14% และกองทุนส่วนบุคคลของธนาคารออมสิน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ถือหุ้น 6.57%

ภาพรวมด้านตัวเลขการเงิน HOTPOT ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ารายได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ 2.32 พันล้านบาทในปี 2557 ลดลงเหลือ 2.16 พันล้าบาทในปี 2558 และเหลือ 2.06 พันล้านบาทในปี 2559 สุดท้ายลดลงเหลือ 1.84 พันล้านบาทในปี 2560 เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่บริษัทขาดทุนสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ 54.45 ล้านบาท ถัดมาขาดทุนสุทธิ 94.99 ล้านบาท ปีต่อมา ขาดทุนสุทธิ 148.23 ล้านบาท และในปีที่ผ่านมา ขาดทุนสุทธิสูงสุด 222.30 ล้านบาท นั่นย่อมทำให้อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญอย่าง ROA และ ROE ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน รวมถึงสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างน่าใจหายจากระดับเฉียดพันล้านบาท เหลือเพียง 533 ล้านบาทในปัจจุบัน และยังมีหนี้สินอีกเกือบ 500 ล้านบาท

เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทที่หลายกองทุนชื่นชอบเข้าลงทุน และเคยมีแนวโน้มการดำเนินงานที่ดี แต่ปัจจุบันกลับเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สวนทาง โดยเหตุผลสำคัญที่บริษัทได้ชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงของผลดำเนินงานในปีล่าสุด มีมูลเหตุที่น่าสนใจว่า รายได้ที่ลดลงของ HOTPOT เกิดจากจำนวนสาขาที่ปิดตัวลง ตามนโยบายปรับลดสาขาที่ไม่ทำกำไรซึ่งมีจำนวนถึง 36 แห่ง จากทั้งหมด 141 สาขา หรือคิดเป็น 25.53%

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากการที่หนี้สินภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างช้าเข้ามากดดันการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดจากธุรกิจร้านอาหารยังคงทวีความรุนแรงจากจํานวนร้านอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการรายปัจจุบัน และผู้ประกอบการรายใหม่ นั่นหมายความว่า แนวทางบริหารธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลานั้นไม่ตอบโจทย์

ที่ผ่านมา ผู้บริหารไม่ได้นิ่งนอนใจอยู่เฉย ๆ พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร ผ่านการเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ อาทิ การขายหุ้นเพิ่มทุน, การออกตั๋ว B/E ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด นำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเปิดทางให้กลุ่มทุนอื่นเข้ามาร่วมลงทุน และร่วมบริหาร นั่นคือกลุ่ม “เตชะอุบล” และ “จุฬางกูร” และกลุ่มทุนจากไต้หวัน เพื่อนำเม็ดเงินและกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ ๆ มาพลิกฟื้นธุรกิจ และนำพาองค์กรกลับมายืนอยู่บนวัฏจักรธุรกิจขาขึ้น

เหตุการณ์สำคัญของ HOTPOT เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2559 เมื่อ “อภิชัย เตชะอุบล” แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ได้เข้าลงทุนใน HOTPOT โดยเป็นทั้งการลงทุนส่วนตัวในสัดส่วน 22.26% และลงทุนในชื่อ บมจ. ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) ในสัดส่วน 2.24% รวมทั้งหมด 24.50% (แต่ล่าสุด บอร์ด TFD อนุมัติขายหุ้น HOTPOT ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้แก่นายอภิชัย แล้ว) ทำให้ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท

“การเข้าไปร่วมถือหุ้นในครั้งนี้ เป็นการเข้าไปรวมมือกับกลุ่มผู้บริหารเดิม ในการผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความเป็นพรีเมียมมากขึ้น โดยธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกลุ่มครอบครัว เนื่องจากมีความสนใจในธุรกิจอาหารมายาวนาน อีกทั้งยังมีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารโดยเฉพาะ”

ส่วนจุดเด่นของ HOTPOT ที่ทำให้กลุ่มทุนใหม่เชื่อว่า นี่คือโอกาสในการเข้ามาสร้างผลตอบแทนที่สวยงาม คือ การมีหลายแบรนด์ภายใต้การบริหาร เป็นความได้เปรียบทางธุรกิจ เพราะแต่ละแบรนด์มีจุดยืนทางการตลาดที่แตกต่างกันไป

สำหรับบริษัทธุรกิจอาหารในกลุ่มเตชะอุบล คือ บริษัท เจซี เควินฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ปัจจุบัน กลุ่มครอบครัวได้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารจีน “เจิ้งโต่ว” และซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารจากอังกฤษ ชื่อว่า “ซินยอร์ ซาสซี่ (Signor Sassi)” ซึ่งเป็นร้านอาหารสไตล์อิตาเลียน และล่าสุด อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดให้บริการร้านอาหาร “เบอร์เกอร์แอนด์ล็อบสเตอร์ (Burger&Lobster)” ซึ่งเป็นอีกแบรนด์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนแปลงของ HOTPOT ต่อจากนี้ เพราะเดิมถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในตลาดจากตลาดแมส ดังนั้น หากต้องเปลี่ยนเป็นตลาดพรีเมียมตามมุมมองของผู้ลงทุนใหม่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขณะที่ผู้บริโภค สิ่งที่เราอาจได้เห็น คือ การเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจเดิมที่มีการแข่งขันสูงไปสู่ธุรกิจร้านอาหารรูปแบบอื่น ผ่านสาขาต่าง ๆ ของ HOTPOT ที่ยังให้บริการ แต่สาขาเหล่านี้จะถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายผลิตภัณฑ์ และสินค้า บนตราสินค้าใหม่ ซึ่งยังต้องใช้เวลาเพื่อได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค และไม่มีใครการันตีได้ว่า ธุรกิจร้านอาหารรูปแบบใหม่จะประสบความสำเร็จทุกครั้ง

ประธานกรรมการ HOTPOT ให้มุมมองต่อเป้าหมายธุรกิจในปี 2561 ว่าจะพลิกกลับมามีกำไรในรอบ 5 ปี ผ่านกลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการร้านอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลาย หลังจากปีผ่านมา ได้มีการปิดสาขาไป 40 แห่ง จนเหลือสาขาที่เปิดให้บริการ 104 แห่ง เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนการผลิตอาหาร (food cost) จากเดิมอยู่ที่ 48-50% ของรายได้ ปัจจุบันสามารถลดลงเหลือ 42% และคาดว่าจะสามารถปรับลดลงได้อีก ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น จนมีความเป็นไปได้ที่ EBITDA จะเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2561 ซึ่งในปีนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่จะพลิกมีกำไรได้

แต่การจะบรรลุฝั่งฝันได้ HOTPOT ต้องทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกรอบ จำนวน 73.08 ล้านบาท เป็น 194.88 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 292,320,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท เพื่อนำเงินที่ได้มาประมาณ 317 ล้านบาท นำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน สำหรับขยายธุรกิจและเทกโอเวอร์ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา อีกทั้งจะทำให้มีส่วนของทุนเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่เพียง 33.38 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE Ratio) ลดจาก 15 เท่า เหลือเพียง 1.4 เท่า เพื่อให้บริษัทมีฐานทุน และฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น

ดูไปดูมา แผนพลิกฟื้น HOTPOT ก็เหมือนหลายบริษัทจดทะเบียนในอดีตที่หวือหวาด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียน แต่จะต้องเพิ่มทุนอีกกี่รอบสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เช่นเดียวกับสัดส่วนการถือครองของผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมที่จะปรับตัวลดลงมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน ผลงานของกลุ่มเตชะอุบล อีกสาย เคยปรากฏว่า การเข้าร่วมถือครองสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอื่นนั้น ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงฝ่ายเดียว นั่นจึงถือว่ายังไม่ใช่การปิดโอกาสถึงความเป็นไปได้ที่อาจได้เห็นการทยอยลดบทบาท และสัดส่วนการถือครองของผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมของ HOTPOT เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะได้เห็นการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Backdoor Listing) ของกลุ่มธุรกิจอาหาร ในมือกลุ่มเตชะอุบล เข้ามาเฉิดฉายอยู่บนกระดานหุ้นด้วยเช่นกัน เพียงแต่ทุกสิ่งทุกอย่างยังจำเป็นต้องใช้เวลาเป็นบทพิสูจน์


กำลังโหลดความคิดเห็น