xs
xsm
sm
md
lg

วิตกสงครามทางการค้าพยุงราคาทองคำสวนกระแสเฟดขึ้นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลากหลายประเด็นที่ส่งผลต่อราคาทองคำ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในวงกว้างว่านโยบายดังกล่าวอาจนำไปสู่สงครามการค้าโลก หลังทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% จากประเทศต่างๆ ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็น 2 ประเทศคู่ค้าในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) แต่ส่งสัญญาณว่าอาจจะยกเว้นภาษีให้แก่ประเทศอื่นๆ หากประเทศเหล่านี้เจรจา และสามารถตกลงกับสหรัฐฯ ได้ว่าสินค้าเหล็ก และอะลูมิเนียมของพวกเขาจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 15 วัน
 

ทรัมป์ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียม ถึงแม้มาตรการดังกล่าวจะเผชิญต่อเสียงคัดค้านจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน และเป็นที่มาที่ทำให้ นายแกรี่ โคห์น หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่คู่ค้าโดยเฉพาะจีน ออกมาขู่ว่าจะออกมาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิ และประโยชน์ของตนเอง และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายดังกล่าวให้เร็วที่สุด แม้แต่พันธมิตรอย่างสหภาพยุโรป (EU) ก็ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเว้นการเก็บภาษี รวมถึงญี่ปุ่นก็ออกมาแสดงความเห็นว่าการตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ หลายๆ องค์กรก็ออกมาส่งเสียงเตือนเช่นกันว่า นโยบายเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมจะส่งผลเสียอย่างมากต่อการค้าโลก และเศรษฐกิจโลก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ออกมาเตือนว่า การประกาศเก็บภาษีนำเข้านั้น ไม่ได้จะสร้างความเสียหายต่อประเทศอื่นๆ เพียงเท่านั้น แต่ยังจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองด้วย ซึ่งรวมถึงภาคการผลิตและก่อสร้างที่ต้องใช้เหล็ก และอะลูมิเนียมเป็นจำนวนมาก
 
การเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลทั่วโลก โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ เผชิญต่อการดำเนินมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า และอาจนำมาซึ่งความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามการค้าในวงกว้าง และการทำสงครามการค้านอกจากจะสร้างความเสียหายทั้งในด้านผู้ผลิตของสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญต่อการตอบโต้จากบริษัทคู่แข่งต่างชาติ และทางด้านผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบราคาสินค้าและการบริการปรับตัวสูงขึ้นแล้วนั้น ยังอาจสร้างความเสียหายเศรษฐกิจโลกเป็นวงเงินสูงถึง 4.7 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020 อ้างอิงจากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
 
แน่นอนว่านโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลกดดันสกุลเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงอย่างชัดเจน ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ตอบสนองในเชิงลบต่อนโยบายดังกล่าวเช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวหนุนให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถึงแม้จะเผชิญต่อปัจจัยกดดันสำคัญอย่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แต่เชื่อว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะทรัมป์เล็งเป้าในการดำเนินการครั้งนี้ไปที่ “จีน” โดยสหรัฐฯ เตรียมที่จะกำหนดภาษีต่อสินค้านำเข้าของจีนมูลค่ามากถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในภาคเทคโนโลยีและการสื่อสารโทรคมนาคม และอาจขยายวงกว้างมากขึ้น และในที่สุดรายการผลิตภัณฑ์อาจจะเพิ่มเป็น 100 รายการ
 
ที่ยิ่งไปกว่านั้น จีนคงจะไม่ยอมให้ประเทศถูกดำเนินการฝ่ายเดียวอย่างแน่นอน ดังนั้น ประเด็นนี้จะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทองคำต้องจับตา เพราะท่าทีกีดกันทางการค้าที่อาจนำมาซึ่งสงครามทางการค้า มาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าเพื่อเอาคืน (tit-for-tat) รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และนานาประเทศ อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในสหรัฐฯ เองจะเป็นปัจจัยกดดันสกุลเงินดอลลาร์ และสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างเสถียรภาพให้แก่ราคาทองคำในปีนี้ได้

วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล


กำลังโหลดความคิดเห็น