ตลท. จัดทำข้อมูลเตือนการลงทุนไอซีไอ และคริปโตเคอร์เรนซี ต้องรอบคอบ เสี่ยงสูง ขณะที่การประชุม 4 หน่วยงานคุมคริปโตเคอร์เรนซีเลื่อน
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน แสดงความสนใจระดมทุนด้วยวิธีเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้คนทั่วไป (ไอซีโอ) ซึ่งในเรื่อง ตลท. ไม่มีหน้าที่อนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ บจ. ระดมทุนดังกล่าว แต่หาก บจ. ต้องการใช้ความน่าเชื่อถือจากการเป็น บจ. ในการะดมทุนดังกล่าว จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบของ ตลท. ให้ครบถ้วน เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลใช้ก่อนตัดสินใจลงทุน.
ขณะเดียวกัน ตลท. อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลออกมาเผยแพร่ เพื่อให้นักลงทุนได้ทำการศึกษาว่า การจะเข้าไปลงทุนในเหรียญดิจิทัล ต้องรู้ข้อมูลอะไรบ้าง และนักลงทุนต้องรู้จักป้องกันความเสี่ยง และศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ
“นักลงทุนต้องลองถามตัวเองว่าบริษัทที่ออกไอซีโอดำเนินกิจการอะไร ระดมทุนไปเพื่อทำอะไร ความเป็นไปได้ของโครงการมีมากน้อยแค่ไหน และผลตอบแทนที่จะได้รับคืออะไร เป็นเงินปันผล หรือกำไรจากส่วนต่างของราคา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่นักลงทุนต้องทำการศึกษาก่อนการลงทุน” นางเกศรา กล่าว
นางเกศรา กล่าวด้วยว่า แม้จะมีบริษัทสนใจระดมทุนแบบไอซีโอ แต่บางบริษัทอาจะไม่ประสำความสำเร็จกับการระดมทุนแบบไอซีโอ ดังนั้น เชื่อว่าการระดมทุนแบบปกติ การขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ยังมีความจำเป็นสำหรับบริษัทไทย และเชื่อว่ายังต้องใช้เวลากว่าที่จะมีการยอมรับหรือเกิดความเชื่อมั่นในเงินสกุลดิจิทัลในประเทศไทย
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรมระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญกับเงินดิจิทัล โดยเฉพาะเงินดิจิทัลสกุลบิตคอยน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน รวมถึงกิจกรรมอื่นที่เกิดขึ้นบนระบบฐานข้อมูลของเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างความสมดุลอย่างระมัดระวังด้วยมาตรการที่เหมาะสม มีการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและปลอดภัยในสังคม โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนการออกกฎหมายดูแลเงินดิจิทัลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการของนวัตกรรมนี้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการส่งเสริมเทคโนโลยี และเพื่อกำกับดูแลไม่ให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นในระบบ เช่น การพนัน การฉ้อโกงประชาชน การฟอกเงิน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันมิให้ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม
รายงานข่าวระบุว่า การประชุมร่วม 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ที่จะออกเกณฑ์ดูแลเงินสกุลดิจิทัลในวันนี้ การประชุมเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ส่งร่างกฎหมายกำกับดูแลการสกุลเงินดิจิทัลกลับมา