xs
xsm
sm
md
lg

รายย่อยถอดใจ BTC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท บางปะกง เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อ BTC รายงานการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่สละสิทธิ์การจองซื้อ



BTC นำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 292.32 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 90 สตางค์ และหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น จัดสรรให้บุคคลในวงจำกัดคือ บริษัท มิลล์ คอนสตีล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MILL ในราคาหุ้นละ 90 สตางค์


หุ้นเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้นที่จัดสรรให้ บริษัท มิลล์คอน สตีล ฯ ขายได้ทั้งจำนวน แต่หุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม มีผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อเพียง 87.10 ล้านหุ้น เหลือหุ้นที่ขายไม่หมดจำนวน 205.22 ล้านหุ้น


แต่หุ้นที่เหลือจากการเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม บริษัท มิลล์คอน ฯ จะรับซื้อทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท มิลล์คอน ฯ ใน BTC เพิ่มเป็นประมาณ 40 % ของทุนจดทะเบียน และได้ยื่นขอผ่อนผันการประกาศรับซื้อหุ้นคืนหรือผ่อนผันการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ไว้แล้ว


BTC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2546 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคาหุ้นละ 4 บาท จากพาร์ 1 บาท โดยล่าสุดลดพาร์เหลือ 68 สตางค์

ตั้งแต่เข้าจดทะเบียน ฐานะการดำเนินงานของ BTC ย่ำแย่มาตลอด ทำให้ราคาหุ้นทรุดตัวลต่อเนื่อง และแม้จะมีการเพิ่มทุนถี่ในปี 2558 แต่ก็ไม่อาจพลิกฟื้นฐานะการดำเนินงานได้ โดยผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี ยอดขาดทุนสะสมล่าสุดพุ่งเป็น 1,477 ล้านบาท


ผู้ถือหุ้นรายย่อย BTC มีจำนวนทั้งสิ้น 6,637 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 59.17 % ของทุนจดทะเบียน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 9.35 % คือ นายยุค ลง ลี


หลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัท มิลล์คอน สตีล ของกลุ่ม ลีสวัสดิ์ตระกูล จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ BTC


การที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยตัดสินใจ สละสิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน อาจเป็นเพราะราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดานไม่จูงใจ เพราะเคลื่อนไหวในระดับใกล้เคียงกับราคาหุ้นเพิ่มทุน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ปิดการซื้อขายที่ราคา 90 สตางค์


อีกเหตุผลที่ผู้ถือหุ้นเดิมทิ้งหุ้นเพิ่มทุน อาจเป็นเพราะไม่แน่ใจในแนวโน้มผลประกอบการ แม้จะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น และจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในอนาคตอันใกล้ก็ตาม


ผู้ถือหุ้นรายย่อยอาจถอดใจแล้วกับ BTC ไม่ต้องการเติมเงินเข้าไปอีก ปล่อยให้บริษัท มิลล์คอน สตีล ฯ เข้ามาครอบงำกิจการอย่างเต็มตัว


เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BTC มีมติเพิ่มทุนอีกครั้ง โดยนำหุ้นใหม่รองรับการใช้สิทธิวอแรนต์รุ่นที่ 4 ซึ่งจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมฟรีในสัดส่วน 9 หุ้นเดิม ต่อ 1 วอแรนต์ ราคาแปลงสภาพ 1.20 บาท มีอายุ 3 ปี โดยจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อในทะเบียนวันที่ 10 พฤษภาคม 2561


การออกวอแรนต์รุ่นที่ 4 มีผลต่อราคาหุ้น ซึ่งขยับขึ้นไปล่วงหน้า ก่อนวันที่คณะกรรมการ BTC จะมีมติเพียง 1 วัน โดยวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น BTC เพิ่มขึ้นไปปิดที่ 1.04 บาท เพิ่มขึ้น 14.29 % ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หนาตา


BTC แม้มีผลประกอบการที่ย่ำแย่ แต่ราคาหุ้นบางช่วงร้อนแรง โดยมีการปล่อยข่าวจุดพลุเก็งกำไร และการใช้วอร์แร้นต์เป็นกลไกกระตุ้นราคาหุ้น ซึ่งนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปเก็งกำไร มักเจ็บตัว


ผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 6 พันคนที่ถือหุ้นตัวนี้ไว้ เจ็บตัวแทบทั้งสิ้น เจ็บจนกลัว ไม่กล้าใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน


อดีตหุ้น BTC ไม่ดีนัก ส่วนอนาคตต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ รอลุ้นว่าบริษัท มิลล์คอน สตีล ฯ ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ จะฟื้นฟูผลดำเนินงานได้หรือไม่


ผู้ถือห้นรายย่อยที่ติดดอย BTC คงได้แต่ฝากความหวังกับ “มิลล์คอนสตีล” เท่านั้น หวังว่า จะเข้ามาช่วยรักษาแผลผู้ที่บาดเจ็บจากหุ้นตัวนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น