xs
xsm
sm
md
lg

YLG สรุปราคาทองคำช่วง 2 เดือนแรกของปี 2018 และกลยุทธ์ลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราคาทองคำเปิดระดับปี 2018 ที่ 1,302.61 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และปิดระดับในเดือน ก.พ.ที่ 1,318 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือปรับตัวขึ้นมาแล้ว 15.39 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็น 1.18% จากต้นปี อย่างไรก็ดี ในปีนี้ราคาทองคำมีการทำสถิติใหม่ๆ หลายประการ เช่น ราคาทองคำเคลื่อนไหวเหนือระดับ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาทองคำยังพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งบริเวณ 1,366 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในวันพุธที่ 24 ม.ค.
 

โดยปัจจัยหนุนสำคัญที่เข้ามาส่งผลหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงแรกในหลายประการ ทั้งแนวโน้มที่ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางยุโรป กำลังจะปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติเป็นอีกปัจจัยที่กดดันสกุลเงินดอลลาร์
 
  รวมไปถึงรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เจ้าหน้าที่จีนซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ได้เสนอให้รัฐบาลจีนชะลอ หรือยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มเติม ซึ่งถือแม้ว่าทางการจีนจะออกมาปฏิเสธในภายหลัง แต่สกุลเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นเท่าใดนัก
 
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งบริเวณ 1,366 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้แก่ การที่ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นว่า ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
 
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ราคาทองคำขึ้นไปแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,366 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงปลายเดือน ม.ค. ราคาก็มีการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน ก.พ. โดยได้รับแรงกดดันสำคัญจากการแข็งค่าของดอลลาร์ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ม.ค. ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ต่ำสุดในรอบ 17 ปี ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงานพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปี สถานการณ์ดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ และเป็นปัจจัยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และสกุลเงินดอลลาร์ให้พุ่งขึ้นกดดันราคาทองคำให้ร่วงลงแตะระดับ 1,306.81 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันที่ 8 ก.พ.

และก่อนที่ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นจากภาวะชัตดาวน์ของหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ประกอบกับการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่บ่งชี้ถึงการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อซึ่งช่วยหนุนราคาทองคำที่อยู่ในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ และช่วยชดเชยปัจจัยกดดันสำคัญอย่างการคาดการณ์ว่า เฟดอาจเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดในปีนี้ ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นมาทดสอบโซน 1,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้งในช่วงกลางเดือน ก.พ.
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ การคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้กลับมาอยู่ในจุดสนใจของตลาดอีกครั้ง ด้วยถ้อยแถลงของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระหว่างการตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่มีการส่งสัญญาณว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ส่วนดอลลาร์แข็งค่า และเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยให้ปรับตัวลดลงมาเคลื่อนไหวใกล้กับจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ บริเวณ 1,312 ดอลลาร์ต่อออนซ์
 
ดังนั้น ในระยะสั้นราคาทองคำยังมีโอกาสอ่อนตัวลง โดยต้องจับตาบริเวณแนวรับ 1,300-1,298 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาย่อตัวไม่หลุดแนวดังกล่าวมีโอกาสเห็นการดีดตัวขึ้นทดสอบแนวต้านอีกครั้ง แต่หากราคาทองคำไม่สามารถขึ้นไปยืนเหนือโซน 1,323-1,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ อาจทำให้เห็นแรงขายทำกำไรออกมา สำหรับกลยุทธ์การลงทุนฝั่งซื้อยังต้องเน้นทำกำไรในระยะสั้น และต้องตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ล่วงหน้าให้ชัดเจน โดยรอเปิดสถานะซื้อหากราคาทองคำยืนเหนือแนวรับ 1,300-1,298 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง และตัดขาดทุนหลากหลุดแนวดังกล่าวเพื่อถอยจุดซื้อไปยังแนวรับถัดไปที่ 1,286 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านนักลงทุนที่ถือทองคำไว้อาจหาจังหวะขายทำกำไรเมื่อราคาขึ้นมาทดสอบแนวต้าน 1,323-1,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์

วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล


กำลังโหลดความคิดเห็น