คณะกรรมการผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ปี และปีนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ YLG อยากให้นักลงทุนทุกท่านรับทราบ ได้แก่ “จุดยืนของคณะกรรมการเฟดที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในปี 2018 มีการเปลี่ยนแปลงจากปี 2017 อย่างชัดเจน” และอาจมีผลทำให้แนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดเปลี่ยนจาก “ค่อยเป็นค่อยไป” เป็น “แข็งกร้าวมากขึ้น”
ในแต่ละปีจะมีคณะกรรมการเฟดที่มีสิทธิลงคะแนนไม่เกิน 12 คน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 คือ คณะผู้ว่าการเฟด(Board Governors) ของ Fed ซึ่งมีจำนวน 7 คน โดยรายชื่อ Board Governors ในปัจจุบัน ได้แก่ นาย Jerome Powell ประธานเฟด, นาง Lael Brainard, นาย Randal Quarles และนาย Marvin Goodfriend ผู้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอให้เป็นกรรมการเฟดคนใหม่ และอยู่ในกระบวนการของการรับรองอย่างเป็นทางการ ขณะที่ตำแหน่งผู้ว่าการเฟดอีก 3 ตำแหน่ง ยังคงว่าง และประธานาธิบดีทรัมป์ สามารถแต่งตั้งกรรมการเฟดคนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่
ส่วนที่ 2 คือ ประธาน Fed สาขาต่างๆ จำนวน 5 คนซึ่งสลับสับเปลี่ยนกันไปตามกลุ่ม โดยมีประธานเฟดสาขา New York เป็นผู้ได้รับสิทธิถาวรในการโหวต ส่วนอีก 4 คน จะมาจากประธาน Fed สาขาต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม หมุนเวียนกันไป ดังนี้
กลุ่มที่ 1 New York ได้รับสิทธิในการโหวตทุกปี ได้แก่ นาย William Dudley
กลุ่มที่ 2 Chicago/Cleveland ปีนี้ได้แก่ นาง Loretta Mester ประธานเฟดสาขา Cleveland
กลุ่มที่ 3 Philadelphia/Richmond/Boston ปีนี้ได้แก่ นาย Thomas Barkin ประธานเฟดสาขา Richmond
กลุ่มที่ 4 Dallas/Atlanta/St. Louis ปีนี้ได้แก่ นาย Raphael Bostic ประธานเฟดสาขา Atlanta
กลุ่มที่ 5 Minneapolis/San Francisco/Kansas City ปีนี้ได้แก่ นาย John Williams ประธานเฟดสาขา San Francisco
ต้องไล่เรียงก่อนว่า ในปี 2017 คณะกรรมการเฟดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของ FOMC อยู่ในฝั่งสายพิราบ หรือในเชิงสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Dovish) แต่ปีนี้คณะกรรมการเฟดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงของ FOMC มีการกระจายตัวกันระหว่างสายเหยี่ยว หรือในเชิงสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน (Hawkish) และสายพิราบ หรือในเชิงสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Dovish) ซึ่งอาจทำให้จุดยืนของเฟดเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ อยู่ในสภาวะจ้างงานที่เต็มประสิทธิภาพ และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2%
โดยเฉพาะหากผู้ว่าการเฟดอีก 3 ตำแหน่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เสนอชื่อใหม่ มีจุดยืนในเชิงสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน (Hawkish) อาจส่งผลให้การคุมเข้มนโยบายการเงินเปลี่ยนจาก “ค่อยเป็นค่อยไป” เป็น “แข็งกร้าวมากขึ้น” นักลงทุนทองคำจึงต้องอัปเดตจุดยืนของกรรมการเฟดเพื่อเป็นสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มทิศทางการนโยบายการเงินของเฟดอย่างใกล้ชิด เพราะนี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางราคาทองคำในปี 2018 อย่างแน่นอน
วาย แอล จี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล