xs
xsm
sm
md
lg

เสือปืนไวไล่ CPALL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ข่าวลือธนาคารแห่งประเทศไทย อนุมัติให้ร้านสะดวกซื้อ 7-11 เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ จุดชนวนการลุยแหลก ไล่ซื้อหุ้น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น CPALL กันฝุ่นตลบ ทันทีที่เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา



จนราคาหุ้นพุ่งทะยาน ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่คึกคักสุดเหวี่ยง และกลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดประจำวัน


หุ้น CPALL เจ้าของ 7-11 เปิดซื้อขายที่ราคา 83 บาท และถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ราคา 85.75 บาท/หุ้น ก่อนปิดที่ 83.75 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 2.50 บาท/หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 3.08% มูลค่าซื้อขาย 3,776.43 ล้านบาท


ข่าวลือ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ได้รับอนุมัติให้เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ กระตุ้นการเก็งกำไรหุ้น CPALL เพราะถ้าเปิดบริการรับฝากเงิน ถอนเงิน หรือปล่อยกู้เงินเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ เซเว่น - อีเลฟเว่น นอกจากจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของธนาคารพาณิชย์แล้ว

แนวโน้มผลประกอบการจะเติบโตสูง เพราะมีช่องทางเพิ่มรายได้จากธุรกรรมทางการเงิน


การคาดหมายอนาคตที่สดใสของหุ้น CPALL นำไปสู่การเก็งกำไร โดยนักลงทุนแห่เข้าเก็บหุ้นกักตุนไว้ในพอร์ต

แต่ผลของการเป็นนักเก็งกำไรประเภทเสือปืนไว ไล่หุ้นโดยไม่ตรวจสอบข่าว ทำให้นักลงทุนบางส่วน ต้องติดดอย CPALL แบกหุ้นต้นทุนสูงไว้ เพราะข่าวลือ 7-11 ได้รับอนุมัติให้เป็นธนาคารพาณิชย์ ถูกแบงก์ชาติปฏิเสธ และส่งผลให้ราคาหุ้นที่ถูกไล่ขึ้นไปแรงระหว่างชั่วโมงซื้อขาย อ่อนตัวลง


ร้านสะดวกซื้อที่ได้รับอนุมัติให้เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่มีจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเป็นร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น ซึ่งโลกโซเชียล ได้จับแพะชนแกะ นำเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นมาโมเมกับ 7-11 ในประเทศไทย จนลือกันสนั่น

ลือกันถึงหูแมลงเม่าในตลาดหุ้น และแห่เข้าไปตุนหุ้น CPALL กันทันที

แบงก์ชาติอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถแต่งตั้งแบงก์กิ้งเอเย่นต์ตั้งแต่ปี 2533 แล้ว โดย แบงก์กิ้งเอเย่นต์จะให้บริการรับฝากเงิน รับชำระค่าบิลบริการต่าง ๆ และกำลังอนุมัติให้ถอนเงินได้วันละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเซเว่น - อีเลฟเว่น ให้บริการในลักษณะแบงก์กิ้งเอเย่นต์อยู่แล้ว

เซเว่น - อีเลฟเว่น ไม่ได้มีบริการทางการเงินที่ใหม่ แต่ราคาหุ้นที่โจนทะยานขึ้น ท่ามกลางการซื้อขายที่ร้อนแรงสุดเหวี่ยง เพราะการโหมกระพือข่าวลือการได้รับอนุมัติให้เป็นธนาคารแห่งใหม่เท่านั้น

และข่าวลือได้นำพานักลงทุนส่วนหนึ่งเข้าไป “ติดกับ”  CPALL โดยเฉพาะคนที่ไล่ราคาขึ้นไปแถว 85 บาท ซึ่งต้องแบกหุ้นต้นทุนสูง

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่พลาดท่า เข้าไปไล่ CPALL และต้องติดดอย คงไม่เครียดกับหุ้นตัวนี้เท่าใด เพราะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ

ผลการดำเนินงาน CPALL เติบโตอย่างต่อเนื่อง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ค่าพี/อี เรโช ล่าสุดประมาณ 39 เท่า แม้จะสูงไปนิด แต่รอซื้ออนาคตแนวโน้มผลดำเนินงานได้ ส่วนอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 1.23%

CPALL จัดเป็นหุ้นยอดนิยมตัวหนึ่ง มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 39,481 ราย เป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ และอยู่ในความสนใจของนักลงทุนสถาบัน

ติด CPALL ไว้ ถ้าไม่อยากขาดทุน ไม่ขายก็ได้ เพราะถ้าไม่ขาย ถือว่าไม่ขาดทุน เพียงแต่เสียดายแทนนักเก็งกำไรประเภทเสือปืนไวที่เข้าไปไล่ช้อนหุ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเท่านั้น

เสียดายที่เข้าไปแย่งกันเก็บ “ของแพง” เข้ามาในพอร์ต



กำลังโหลดความคิดเห็น