SCB EIC มองเศรษฐกิจปี 61 ขยายตัวที่ 4.0% จาก 3.9% ในปี 60 แต่ยังกระจุกตัวต่อเนื่อง จับตาบาทแข็งค่า-ต้นทุนแรงงานเพิ่ม
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.0% ทั้งภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ การเติบโตในส่วนดังกล่าวส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจขนาดใหญ่ และทำให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัว ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาฟื้นตัวตามการเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่า การขยายตัวในลักษณะที่ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ถึงภาคครัวเรือนมีแนวโน้มดำเนินต่อไป เพราะตัวแปรสำคัญ คือ ตลาดแรงงานยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวมาตลอดปี โดยในไตรมาส 4 ปี 2560 การจ้างงานในธุรกิจภาคเอกชนยังคงลดลงที่ -0.5% YOY ต่อเนื่องจาก -1.7% YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการลดลงในภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการแรงงานที่ยังอยู่ในสภาวะชะลอตัวในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มกำลังซื้อและการบริโภคภาคครัวเรือนอาจขยายตัวได้ไม่มากนัก
SCB EIC มองว่า ค่าเงินบาทจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการส่งออก โดยมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ที่ราว 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ อาจกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย ประกอบกับดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในเดือนมกราคม ที่ยังแข็งค่าขึ้นกว่า 5.4% YOY ก็สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้ SCB EIC มองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือน เม.ย. นี้ ท่ามกลางสภาวะที่ตลาดแรงงานยังคงซบเซามีความเสี่ยงจะทำให้การชะลอตัวของการจ้างงานเกิดขึ้นยาวนานกว่าเดิม การสำรวจผู้ประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ ของประชาชาติธุรกิจ พบว่าภาคธุรกิจเริ่มมีความกังวลต่อประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็ก เช่น ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ อาหารแปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ธุรกิจค้าปลีกอาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากทางเลือกที่ค่อนข้างจำกัดในการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสส่งผลกระทบไปยังทิศทางของการจ้างงานในแรงงานกลุ่มที่ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำด้วยเช่นกันผ่านช่องทางการควบคุมต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจมีการปรับตัวในการจ้างงานระดับอื่น ๆ ไปพร้อมกัน SCB EIC มองว่า ประเด็นตลาดแรงงานถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ต้องจับตาสำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2561
วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2560 ขยายตัว 4.0% YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 0.5% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในปี 2560 ขยายตัวได้ที่ 3.9%