xs
xsm
sm
md
lg

“สรรพสามิต” เตรียมขยายฐานภาษี วัดจากการปล่อยมลภาวะของมอเตอร์ไซค์เหมือนรถยนต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสรรพสามิตเตรียมขยายฐานภาษี วัดจากการปล่อยมลภาวะของมอเตอร์ไซค์เหมือนรถยนต์ เนื่องจากเห็นว่ามอเตอร์ไซค์วิ่งตามท้องถนนจำนวนมากปล่อยมลภาวะออกสู่บรรยากาศ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดว่าควรกำหนดมาตรฐานยกเว้นขนาดกระบอกสูบเท่าใด

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า หลังจากปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2559 เช่น กลุ่ม Eco Car รถยนต์กลุ่มนี้ปล่อยก๊าซ CO2 ไม่ถึง 120 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีร้อยละ 17 รถยนต์นั่งขนาดกลางความจุตั้งแต่ 1800-2000 ซีซี เช่น รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง E-20 เสียภาษีสรรพสามิตร้อยละ 25 ของขายปลีกแนะนำ จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นกลุ่มปล่อยมลภาวะด้วยเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่ามอเตอร์ไซค์วิ่งตามท้องถนนจำนวนมากปล่อยมลภาวะออกสู่บรรยากาศ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดว่าควรกำหนดมาตรฐานยกเว้นขนาดกระบอกสูบเท่าใด

สำหรับแนวทางปรับลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้ารถยนต์ มองว่า หากราคานำเข้า CIF ปรับลดลงจะช่วยลดปัญหาสำแดงภาษีนำเข้าเป็นเท็จต่ำกว่าความเป็นจริงได้ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาขายปลีกแนะนำชัดเจน เพื่อคำนวณจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตสร้างความเป็นธรรม และเก็บบนฐานเดียวกัน การยื่นสำแดงภาษีจะตรงความเป็นจริงมากขึ้น รวมทั้งขยายฐานภาษีไปยังสินค้าก่อมลภาวะ เช่น ถ่านหิน หรือปล่อยน้ำเสีย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจศาสตร์เหล่านี้มาผลักดันออกเป็นกฎหมาย เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีโรงงานยาสูบออกแบรนด์ใหม่สู่ตลาด เพื่อลดผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษียาสูบฉบับใหม่ เพราะการออกแบรนด์ใหม่ Wonder S ขายราคาถูกลง นับเป็นการปรับกลยุทธ์ทางการค้า ถือว่าดำเนินการได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว ส่วนแนวทางการช่วยเหลือด้านอื่นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฤษฎีกายังไม่ส่งเรื่องกลับมายังกรมสรรพสามิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปรับโครงสร้างภาษียาสูบฉบับใหม่จัดเก็บภาษีบุหรี่มวนละ 1.20 บาท และเก็บภาษีทางด้านมูลค่า กรณีราคาขายปลีกต่ำกว่า 60 บาทต่อซอง เสียภาษีร้อยละ 20 และหากราคาขายปลีกสูงกว่าซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 40 จึงเกิดช่องโหว่ส่งผลให้บุหรี่ที่นำเข้าจากต่างชาติ 2-3 ยี่ห้อ ดัมพ์ราคาขายปลีกลงมาอยู่ในระดับเดียวกับบุหรี่ของโรงงานยาสูบ โรงงานยาสูบจึงออกแบรนด์ใหม่ “Wonder S” ขายซองละ 60 บาท เพื่อแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศ เช่น L&M แดง, เขียว ขนาด 7.1, วินสตันคอมแพค แดง, เขียว การราคาขาย 60 บาทต่อซอง ทำให้ภาระภาษีของโรงงานยาสูบลดลง เนื่องจากต้องเสียภาษีร้อยละ 20 ขณะที่บุหรี่ Wonder แดง กับ Wonder เขียว ขาย 90 บาทต่อซอง ต้องเสียภาษีร้อยละ 40 ตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ซึ่งแบ่งการจัดเก็บภาษีออกเป็น 2 ขั้น (เทียร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น