คดีปั่นหุ้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ดังนั้นทุกครั้งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศร้องทุกข์กล่าวโทษ สื่อมวลชนจะให้ความสนใจนำเสนอข่าวกันอย่างกว้างขวาง แต่คดีปั่นหุ้นถูกโหมกระพือเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ก่อนคดีจะเงียบหายไป
บทบาทของ ก.ล.ต. ในการปราบปรามการปั่นหุ้น มีเพียงการตรวจสอบ สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำความผิดกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของดีเอสไอแล้ว คดีปั่นหุ้นเหมือนเข้าไปในแดนสนธยา ไม่มีใครไปตามว่า คดีอยู่ในการพิจารณาขั้นตอนไหน จะต้องใช้เวลาสอบสวนเมื่อไหร่ เรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบหรือยัง จะสรุปสำนวนเมื่อใด ส่งอัยการแล้วหรือยัง เงียบหายแม้กระทั่งการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดคดี เพราะดีเอสไอและอัยการ จะไม่มีการแถลงปิดคดีให้สาธารณชนรับรู้
ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมดีเอสไอหรืออัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุผลใด
นักปั่นหุ้นบางคนที่มีข้อหาปั่นหุ้นนับสิบคดี สามารถกลับมาปั่นหุ้นรอบใหม่ซ้ำอีก โดยไม่หวั่นไหวในการตรวจสอบ
เพราะ ก.ล.ต. ถูกทำให้เป็นเพียงเสือกระดาษ หลังจากการร้องทุกข์กล่าวโทษ ในความผิดเกี่ยวกับตลาดหุ้น ถูกตัดตอนด้วยการสั่งไม่ฟ้องของดีเอสไอหรืออัยการ
ตลาดหุ้นที่ยังเต็มไปด้วยพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบ เต็มไปด้วยการโกง การปั่นหุ้น การผ่องถ่ายเงินจากบริษัทจดทะเบียน และทำให้ภาพลักษณ์การลงทุนไม่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น
ประชาชนทั่วไป มักโจมตี ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ
กล่าวหาว่า ขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ไม่ปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง ก.ล.ต. ตกอยู่ในฐานะแพะ ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ พยายามกวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้น กวดขันพฤติกรรม การกระทำผิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวบรวมหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษไปแต่ละปีนับสิบคดี
แต่คดีที่ร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อดีเอสไอหรืออัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ก.ล.ต. จะทำอะไรได้ จะเปิดศึกรบกับ ดีเอสไอ หรือ อัยการ คงไม่ใช่หน้าที่
การจัดระเบียบประชาคมชาวหุ้นให้เกิดความสงบสุข โดยนักลงทุนได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่ถูกปล้นหรือถูกโกงจากแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้
เพราะทั้งสองหน่วยงานที่มีบทบาท หน้าที่และอำนาจที่มีอย่างจำกัด ทำได้เพียงร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
ถ้าดีเอสไอหรืออัยการ มีความเห็นต่างจาก ก.ล.ต. ไม่ว่าจะเป็นความเห็นต่าง ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ และเห็นต่างด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ผู้ต้องหาคดีหุ้น จะลอยนวลในทันที แม้จะกระทำความผิด สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อนักลงทุนเพียงใดก็ตาม
ดังนั้นรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะต้องเข้ามาช่วยดูแลกระบวนการยุติธรรมในตลาดหุ้น
ป้องกันการเป่าคดีอาชญากรรมในตลาดหุ้น โดยเฉพาะการเป่าคดีในขั้นตอนสอบสวนของดีเอสไอและการพิจารณาสำนวนของอัยการ
ต้องถามว่า รัฐบาลตระหนักถึงการคุ้มครองนักลงทุนในตลาดหุ้นเพียงใด เห็นความเสียหายจากพฤติกรรมผิดในตลาดหุ้นหรือไม่ ใส่ใจในการสร้างธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นขนาดไหน
เพราะถ้ารัฐบาลไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่มีต่อนักลงทุนนับล้านคน นักลงทุนคงต้องทำใจ ปล่อยให้ตลาดหุ้นเป็นบ่อนการพนันที่ฟอนเฟะ ปล่อยให้แก๊งมิจฉาชีพกลายเป็นเจ้าพ่อตลาดหุ้นต่อไป
อย่าตำหนิ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ว่าไม่ดูแลปราบปรามอาชญากรรมในตลาดหุ้น เพราะ ก.ล.ต. จับคนร้ายมาส่งมอบแล้ว แต่เมื่อดีเอสไอและอัยการปล่อย จะทำยังไงได้ล่ะ