xs
xsm
sm
md
lg

คลัง​หนุน Banking Agency-เตือน​เทรด​เงิน​ดิจิทัล​เสี่ยง​สูง​-เร่ง​สรุป​เกณฑ์​เดือน​นี้​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลังชี้ ธปท. ออกใบอนุญาต Banking Agency) ให้บริษัทเป็นแนวทางช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น แต่ต้องพิจารณาจากความพร้อมในหลายจุด ด้าน ก.ล.ต. เตือน​ ลงทุน​คริปโต​เคอเรนซี​ต้อง​ศึกษา​ข้อมูล​อย่างละเอียด​ และ​ไม่​เหมาะ​กับ​ทุกคน​ และ​อาจ​มี​การล่อลวงให้​ซื้อ​ด้วย​ข้อมูล​ไม่จริง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่​ธนาคาร​จะ​อนุญาต​ให้​บริษัท​ดำเนินการ​ธุรกิจด้านตัวแทนธนาคารพาณิชย์ (Banking Agency) หรือสามารถให้บริการรับฝาก-ถอนเงินกับประชาชนได้ว่า กระทรวงการคลังเห็นด้วยกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกใบอนุญาตดังกล่าว เพื่อเป็นการเปิดให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนได้ทำธุรกรรมฝาก ถอน โอน เงินผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนมากขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม การออกใบอนุญาตของ ธปท. ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนเงินทุนเพื่อการตั้งสำรองในดำเนินธุรกิจ จำนวนสาขา และกรณีที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังมีข้อกำหนดตามหลักธรรมาธิบาลอีกด้วย ผู้จะยื่นขอใบอนุญาตจึงเอกสารต้องเสนอหลายอย่าง ซึ่งข้อกำหนดในการพิจารณาเป็นไปอย่างรัดกุมมากตามมาตรฐาน ธปท. เนื่องจากหากเอกชนรายใดไม่พร้อมจะดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากเป็นบริการทางการเงิน

**เร่งสรุปแนวทางกำกับดูแลเทรดเงินดิจิทัล ก.พ. นี้**

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คณะทำงานเพื่อสรุปหาแนวทางการกำกับดูแลการซื้อสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธปท., ก.ล.ต., และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ง.) นั้น จะได้ข้อสรุปถึงแนวทางในการดูแลประชาชนได้ และคณะทำงานฯ ต้องการเตือนนักลงทุน หรือประชาชน ถึงกรณีการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ในขณะนี้ ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่ผู้ลงทุนได้รับความเสียหาย

สำหรับแนวทางในการดูแลผู้เสียหายจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลว่ายังมีช่องทางกฎหมายใน พ.ร.บ.ชำระเงิน และ พ.ร.บ.การกู้ยืมเงิน ผ่านการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าวจะมีรัฐมนตรีคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย แต่หากต้องการแก้ไขกฎหมายแล้วจะต้องให้กระทรวงคลังเป็นเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยในส่วนของกระทรวงคลังยังต้องร่วมกับหลายหน่วยงานขับเคลื่อนแนวทางป้องกันไม่ให้นักลงทุนเกิดความเสียหาย 

**ก.ล.ต. เตือน ระวังถูกล่อลวงซื้อไอซีโอ**

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตามที่มีคนสนใจระดมทุนด้วยการออกออกไอซีโอ และเริ่มมีการชักชวนให้ประชาชนลงทุนในไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการเตือนและให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งไอซีโอ และคริปโตเคอเรนซี จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงในหลายแง่มุม หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจอย่างแท้จริง จะเสียหายได้โดยง่าย

นอกจากนี้ อาจมีผู้ฉวยโอกาสในการสร้างกระแสโดยนำโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมาเป็นจุดขาย หรือโครงการที่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และ/หรือนำเรื่องเทคโนโลยีมาบังหน้า เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ลงทุน

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการชักชวน หรือคิดที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องทำความเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ทั้งสินทรัพย์ที่จะลงทุน ตัวกิจการ สิทธิของผู้ลงทุน และโครงสร้างของโทเคนที่จะได้รับจากการลงทุน และประเมินความเหมาะสมเทียบกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนก่อนลงทุนเสมอ ตลอดจนระวังความเสี่ยงจากการที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ธุรกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลความเสี่ยง และไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ และอื่น ๆ

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแลการออกไอซีโอผู้ลงทุนจึงไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ ประกอบกับโครงการที่ระดมทุนอาจยังเป็นเพียงแนวคิด และการดำเนินการตามโครงการที่ระบุอาจไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ไม่เหมือนที่เปิดเผยไว้แต่แรก เนื่องจากข้อมูลในเอกสารประกอบการเสนอขายไอซีโอ (white paper) นั้น อาจเปรียบเสมือนเป็นสัญญาปากเปล่า

สำหรับแนวทางกำกับดูแลที่อยู่ระหว่างพิจารณาของทางการ จะเปิดให้การระดมทุนและทำธุรกรรมในช่องทางนี้ที่สุจริต สามารถดำเนินไปได้ แต่ให้มีการเปิดเผยข้อมูล เพิ่มความโปร่งใส กำหนดให้มีผู้ทำหน้าที่คัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขาย และกำกับดูแลมาตรฐานของตัวกลางที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรตระหนักว่า การกำกับดูแลจะช่วยลดความเสี่ยงได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เช่น ป้องกันการหลอกลวง แชร์ลูกโซ่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ความเสี่ยงทางธุรกิจของกิจการ ความเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวน ตลอดจนความเสี่ยงจากการที่ระบบเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกโจรกรรมไซเบอร์ และที่สำคัญที่สุด ควรตระหนักว่า หากเกิดความเสียหาย มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้ ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจ อย่าลงทุน เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เหมาะกับทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น