xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยพอร์ตหุ้น “เซียนสมยศ” ... การครอบครอง & การลาจากอย่างรวดเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คำว่า “ยืมเพื่อน” กลายเป็นวาทะเด็ดของสังคมไทยไปแล้ว หลังจากคนดังในแวดวงการเมืองนำคำดังกล่าวมากล่าวอ้างถึงที่มาที่ไปของทรัพย์สินที่ชวนสงสัย และที่ล่าสุด นอกเหนือจากปมนาฬิกาหรู ก็กลายมาเป็นเงิน 300 ล้านบาท ระหว่างเสี่ยอาบอบนวดที่อื้อฉาว “กำพล วิระเทพสุภรณ์” กับอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) “พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนถูกสังคมถามหามาตรฐานทางจริยธรรม เพราะเป็นการยอมรับหลังมีข่าวออกมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ภายหลังเป็นที่รับรู้กันถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “พล.ต.อ. สมยศ” และ “เสี่ยกำพล” ว่าใกล้ชิดสนิทสนมกันในฐานะเพื่อน

นอกเหนือจากตำแหน่งใหญ่โตที่เป็นหน้าเป็นตาในสังคมแล้ว สำหรับแวดวงตลาดหุ้น ชื่อเสียงของ “พล.ต.อ. สมยศ” ก็ขึ้นชั้นลือชาว่าเป็นเซียนหุ้นระดับตำนานคนหนึ่งเช่นกัน โดยตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้นำเครื่องแบบสีกากี นอกจากจะเป็นผู้นำองค์กรรัฐที่มีบทบาทและความสำคัญในการขับเคลื่อนความยุติธรรมของประเทศ ตระกูลพุ่มพันธุ์ม่วง ยังมีการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย ภายใต้การนำของญาติพี่น้อง และบุตรของท่านอดีต ผบ.ตร. โดยธุรกิจที่โดดเด่นหนีไม่พ้น “เวิลด์แก๊ส”

กลับมาที่ความโชกโชนในวงการกระดานหุ้นของ “พล.ต.อ. สมยศ” ก่อนหน้านี้ หากย้อนกลับไปดูเส้นทางในตลาดหุ้นของนายกสมาคมฟุตบอลไทยคนปัจจุบันถือว่าโลดโผนไม่น้อย ทั้งสร้างความหวัง และทั้งทำลายความฝันของนักลงทุนมากนักต่อนัก เรียกได้ว่า ในอดีต “พล.ต.อ. สมยศ” มีความเกี่ยวข้องกับหลายบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) ทั้งการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการถือหุ้น หรือการเกี่ยวพันกับข่าวลือต่าง ๆ นานาในการเข้าซื้อหุ้น หรือกิจการบริษัทนั้น ๆ รวมไปถึงสายสัมพันธ์อันดีกับภาคเอกชนในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะ “เสี่ยกำพล” ซึ่งมีหลายบริษัทในตลาดหุ้นที่ทั้ง 2 กลุ่มถือร่วมกัน หรือซื้อขายระหว่างกัน

ที่ผ่านมา การเข้าถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนของ “พล.ต.อ. สมยศ” ส่วนใหญ่จะมาเริ่มปรากฏมาในรูปแบบการ หรือการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP-Private Placement) ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องการเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูก แต่ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปิดทาง เพื่อป้องกันความเสียหายจากการลงทุนแบบนี้ โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ต้องถือหุ้นยาว 1 ปี จึงมีสิทธิที่จะปล่อยขายหุ้นที่ตนถืออยู่ออกไปได้

หากจะพูดถึงหุ้นที่อดีต ผบ.ตร. เคยถือและกลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตามากที่สุด หนีไม่พ้น บมจ. เอคิว เอสเตท (AQ) หรือชื่อเดิมที่คนในวงการหุ้นรู้จักกันดี นั่นคือ “กฤษดามหานคร” (KMC) หนึ่งในหุ้นที่สุดสวิงของตลาดหุ้นไทยจากการเป็นหนี้ก้อนใหญ่กับธนาคารกรุงไทย จนผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องโดนคดีเข้าคุกในวัยชราไปหลายคนหลังมีเงินไหลเข้าไปในกระเป๋าหลายร้อยล้านบาท

ก่อนหน้านั้น KMC พยายามแก้ไขปัญหาทางการเงินโดยเสนอขายหุ้น PP ให้กับหลายก่อนทุน จนในที่สุด ก็มาถึงกลุ่มพุ่มพันธ์ม่วง ของ “พล.ต.อ. สมยศ” ที่ตอบรับการเพิ่มทุนแบบ PP ของบริษัทจนเข้าไปถือครองอยู่ 2.5 พันล้านหุ้น คิดเป็น 19.73% หรืออันดับ 1 โดยขณะนั้น AQ มีมูลค่าซื้อขายตามราคาตลาดประมาณ 855 ล้านบาท และนับเป็นการใช้เครื่องมือวิศกรรมทางการเงินอย่างชาญฉลาดของ “พล.ต.อ. สมยศ” เมื่อตนเอง และอีกหนึ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง “นิรันดร์ เหตระกูล” ไม่มีใครถือหุ้นเกิน 25% (ทั้ง 2 ถือหุ้นใหญ่ใน AQ รวมกันประมาณ 32%) จึงไม่ต้องเข้าหลักเกณฑ์การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ หรือตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่น

ในช่วงเวลานั้น (เม.ย. 2557) “พล.ต.อ. สมยศ” ออกมาให้เหตุผลถึงการเข้าลงทุนใน AQ ว่า ส่วนตัวเล็งเห็นถึงโอกาส และมีความมั่นใจว่า ธุรกิจน่าจะเติบโตในทิศทางที่ดี และการเข้ามาลงทุนในหุ้น AQ ครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนระยะยาว ทำให้นักลงทุนหลายรายเชื่อมั่นกับกลุ่มทุนใหม่ และให้ความสนใจต่อ AQ จำนวนมาก แต่เพียงแค่ 2 ปี ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อนายกฯ ฟุตบอลตัดขายหุ้น AQ ทิ้ง หลังสิงหาคม 2558 ราคาหุ้นบริษัทร่วงติดฟลอร์ ปิดลบ 0.12 บาท หรือ -30% จนทำให้นักลงทุนรายย่อยกว่าหมื่นรายขาดทุน หลังรับข่าวร้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ บมจ. กฤษฎามหานคร (KMC) (ชื่อเดิมของ AQ) ต้องร่วมคืนเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ให้กับธนาคารกรุงไทย ในความผิดขออนุมัติสินเชื่อโดยทุจริต เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2559 มีรายงานว่า “พล.ต.อ. สมยศ” ได้ตัดขายหุ้น AQ ออกไปจากพอร์ต 11.85% เหลืออยู่เพียง 3.95% และลดลงไปเรื่อย ๆ จนหมด

ส่วนความสัมพันธ์กับ “เสี่ยกำพล” พบว่า คืออีกหนึ่งนักลงทุนที่รับซื้อหุ้น AQ จาก “พล.ต.อ. สมยศ” นั่นเอง โดยซื้อในจำนวน 500 ล้านหุ้น มูลค่า 250 ล้านบาท หรือ 3.95% นั่งเอง

บริษัทถัดมา คือ บมจ. โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) หรือเดิม คือ บมจ. วธน แคปปิตัล หรือ WAT ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และทำตัวเป็นโฮลดิ้งคอมปานีเข้าซื้อหุ้นบริษัทอื่น ๆ อาทิ การเข้าซื้อหุ้น บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย (NMG) ในปี 2557 จำนวน 250 ล้านหุ้น หุ้นละ 1.60 บาท จาก บมจ. เอ็มบีเค (MBK) คิดเป็น 7.57% จนนำไปสู่คดีพิพาทที่อดีตเจ้าของสื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่อ้างว่าเป็นการครอบงำ ในครั้งนั้น “พล.ต.อ. สมยศ” ถือครองหุ้น 7,500 ล้านหุ้น หรือ 14.20% โดยได้รับจากการจัดสรรแบบ PP มูลค่าราว 270 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีนางสาวชมกมล พุ่มพันธ์ม่วง เข้ามาถือหุ้น 2.5 พันล้านหุ้น มูลค่าราว 90 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นบนกระดานของ WAT มีความผันผวนมาก จนตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าต้องหลักเกณฑ์วางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อ (Cash Balance) แต่ต่อมา ในช่วงต้นปี 2558 กลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วง ได้ทยอยตัดขายหุ้นออกไปจนหมด

ถัดมา คือ บมจ. เฟอร์รั่ม (FER) เดิมชื่อ บมจ. เอ็มลิ้ง เอเชีย คอร์ปอเรชั่น หรือ M-LINK ของ “มณฑาทิพย์ ชินวัตร” (พี่สาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นเงิน 7.86 ล้านบาท และสมชัย โกวิทเจริญกุล (สามีมณฑาทิพย์) เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท เมื่อปี 2554 ปัจจุบันมีเอ็มดี ชื่อ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ (ลูกสาวสมชาย วงศ์สวัสดิ์-น้องเขยนายทักษิณ ชินวัตร) ส่วนประธานเจ้าหน้าที่บริหารชื่อ “ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” โดยพบชื่อ “ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” ถือหุ้นอยู่ 143 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.53%

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย (SIM) ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่มของตระกูล “วิไลลักษณ์” ขายมือถือ และอุปกรณ์ ยังพบมีชื่อ “ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” ถือครองในสัดส่วน 0.66% ตามด้วย บมจ. อาร์เอส (RS) ของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ที่จัดสรรหุ้นแบบ PP ให้กับกลุ่ม “คิงพาวเวอร์” ขณะเดียวกัน พบว่ามีหุ้นมาอยู่ในความถือครองของ “ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” ในสัดส่วน 1.13%

ปิดท้ายด้วย บมจ. ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี (WP) ซึ่งเป็นชื่อใหม่หลังการควบรวมระหว่าง บมจ. ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น หรือ PINIC และ “เวิลด์แก๊ส” หลังศาลล้มละลายกลางไฟเขียวออกจากการฟื้นฟู แรกเริ่มจาก “สุริยา ลาภวิสุทธิสิน” อดีตรัฐมนตรีสมัยทักษิณ แก้ไขงบและยักยอกงบจนถูกจับได้ ขณะนั้น “สุริยา” มีหนี้สินกู้ยืมกับ “พล.ต.อ. สมยศ” และ ภรรยา “พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก” จึงโอนหุ้นของตนทั้งหมด 51% ในบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด ที่เป็นเจ้าของกิจการ “เวิลด์แก๊ส” ให้กับทั้งคู่ นำไปสู่ชนวนปัญหาการแย่งชิงสิทธิครอบครองในหุ้น ก่อนท้ายที่สุด จะกลายเป็นกลุ่มพุ่มพันธ์ุม่วง ได้สิทธิครอบครอง นำไปสู่การฟื้นฟูกิจการ PICNI และการควบรวมกิจการจนกลายเป็น WP ในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การลดสัดส่วนการถือครองหุ้น WP ของตระกูลพุ่มพันธ์ุม่วง จากที่เคยเรียกได้ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่วันนี้ ผู้ถือหุ้นหมายเลขหนึ่งก็เป็นเจ้าของกิจการร้านค้าปลอดภาษีรายใหญ่ของประเทศอย่าง “คิงพาวเวอร์” ของตระกูลศรีวัฒนาประภา พร้อมพันธมิตรอย่างตระกูล “วิไลลักษณ์” เจ้าของอาณาจักร “SAMART” เข้ามาถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ส่วน “พุ่มพันธุ์ม่วง” เหลือการถือหุ้นเพียง “ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” และ “พิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง” ถือครองหุ้น 7.81% นับได้ว่า “พล.ต.อ. สมยศ” เคยเกี่ยวข้องกับผู้บริหารธุรกิจที่มีปัญหา และฉาวโฉ่มาแล้วครั้งหนึ่งก่อนจะมีเรื่องของ “เสี่ยกำพล” เผยออกมาอีกในรอบนี้

ปัจจุบัน นอกเหนือจากหุ้นที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า ไม่มีชื่อ พล.ต.อ. สมยศ ถือหุ้นใด ๆ ในบริษัทจดทะเบียน แต่บุตรสาวของนายกสมาคมฟุตบอล ยังถือหุ้นบริษัทอื่น ๆ อีก ได้แก่ “บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง” (ETE) ถือครองตั้งแต่ 15 มี.ค. 2560 ในสัดส่วน 0.91% และ บมจ. สยามราช (SR) ในสัดส่วน 1.48%

จากข้อมูลในอดีต สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการถือครองหุ้นของตระกูลพุ่มพันธ์ุม่วง ประการหนึ่ง คือ เมื่อเข้าถือครองหุ้นใหญ่แล้ว มักจะอยู่ไม่นาน จะมีการขายหุ้นออกไปเพื่อทำกำไร หรือเรียกทุนคืนอยู่บ่อยครั้ง และจะเหลือสัดส่วนในการถือหุ้นเพียงเล็กน้อย แต่ท้ายสุด จะทยอยขายหุ้นออกไปจนหมด ซึ่งยังต้องติดตามต่อไปว่า หุ้นที่ทางกลุ่มยังถืออยู่ในปัจจุบันจะซ้ำรอยเส้นทางเดิมเหมือนหุ้นรุ่นพี่ในอดีตหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น