สภาทองคำโลก (World Gold Council หรือ WGC) เปิดเผยในรายงานฉบับล่าสุดว่า อุปสงค์ หรือความต้องการบริโภคทองคำปรับตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 แต่ก็ไม่มากพอที่จะชดเชยการร่วงลงของอุปสงค์ทองคำตลอดทั้งปี โดยปริมาณความต้องการทองคำทั้งปี 2017 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4,072 ตัน ลดลงจากระดับ 4,362 ตันในปี 2016 ซึ่งเชื่อว่าการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้น และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่อยู่เบื้องหลังความต้องการทองคำที่ชะลอตัว
อุปสงค์ทองคำในด้านการลงทุนลดลง 23% เมื่อเทียบเป็นรายปีสู่ระดับ 1,232 ตันในปี 2017 โดยอุปสงค์ทองคำแท่ง และเหรียญทองคำลดลงราว 2% ตามการชะลอตัวของแรงซื้อในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่กระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุน ETFs ทองคำปรับตัวลดลง 23% สู่ระดับ 202.3 ตันในปี 2017 หลังจากในปี 2016 อยู่ที่ระดับ 546.8 ตัน
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือ เกิดการฟื้นตัวของอุปสงค์ทองคำในด้านเครื่องประดับ โดยในปีที่แล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 4% หลังจากแรงซื้อจากผู้บริโภคทั้งจีน และอินเดียฟื้นตัว ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับปริมาณอุปสงค์ทองคำในด้านเทคโนโลยีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% จากปริมาณการผลิต smartphones และ laptop ที่สูงขึ้น ทางด้านธนาคารกลางถึงแม้จะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิในปี 2017 แต่ปริมาณอุปสงค์ทองคำจากธนาคารกลาง และสถาบันก็ปรับตัวลดลง 5% จากปีก่อนหน้าสู่ระดับ 371 ตัน นำโดยรัสเซียที่ยังคงถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 224 ตันในปี 2017 และถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่รัสเซียถือครองทองคำเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มากกว่า 200 ตันต่อปี
หากเราลองมาพิจารณาอุปสงค์ทองคำโดยรวมซึ่งเป็นผลรวมของปริมาณอุปสงค์ทองคำในด้านเครื่องประดับและอุปสงค์ทองคำด้านทองคำแท่งและเหรียญทองคำแยกเป็นรายประเทศ จะพบว่า อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกยังคงถูกครองโดยประเทศจีน (953.3 ตัน) และอินเดีย (726.9 ตัน)เช่นเดิม ตามมาด้วยสหรัฐฯ (161.5 ตัน) และเยอรมนี (116.7 ตัน) อย่างไรก็ตาม พบว่าตุรกี (93.6 ตัน) เบียดประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นประเทศผู้บริโภคทองคำมากเป็นอันอับ 5 ของโลก ทำให้ประเทศไทยตกไปเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยตลอดปี 2017 ไทยมีอุปสงค์ทองคำโดยรวมลดลง 7% สู่ระดับ 75.4 ตัน ลดลงจากระดับ 81.5 ตันในปี 2016
นอกจากนี้ หากเราพิจารณาเฉพาะอุปสงค์ทองคำในด้านทองคำแท่ง และเหรียญทองคำจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจบางอย่าง ประการแรก คือ “สหรัฐอเมริกามีปริมาณอุปสงค์ทองคำในด้านทองคำแท่ง และเหรียญทองลดลงมากที่สุด” จนทำให้สหรัฐฯ ตกจากประเทศที่บริโภคทองคำในด้านทองคำแท่งและเหรียญทองอันดับ 4 ของโลกในปี 2016 ไปเป็นอันดับ 7 ของโลกในปี 2017 รองจากจีน (306.4 ตัน) อินเดีย (164.2 ตัน) เยอรมนี (106.3 ตัน) ไทย (49 ตัน) ตุรกี (47 ตัน) และสวิตเซอร์แลนด์ (31 ตัน) ตามลำดับ โดยปริมาณอุปสงค์ทองคำในด้านทองคำแท่งและเหรียญทองคำของสหรัฐฯ ลดลงจากระดับ 93 ตันในปี 2016 หรือปรับตัวลง 58% สู่ระดับ 39.4 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2007
ด้านประเทศที่บริโภคทองคำในด้านทองคำแท่งและเหรียญทองเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้แก่ ตุรกี โดยปริมาณอุปสงค์ทองคำในด้านทองคำแท่งและเหรียญทองคำของตรุกีเพิ่มขึ้นถึง 78% สู่ระดับ 52.4 ตัน จากระดับ 29.4 ตันในปี 2016 จนทำให้ตรุกีเบียดขึ้นมาเป็นประเทศที่บริโภคทองคำในด้านทองคำแท่งและเหรียญทองเป็นอันดับ 5 ของโลก ปัจจัยที่หนุนความต้องการจากฝั่งตุรกี ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสู่ระดับตัวเลข 2 หลัก ขณะที่เศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นอีกปัจจัยที่หนุนปริมาณความต้องการทองคำ
คาดการณ์ว่า การพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดสกุลเงินดิจิทัลในปี 2017 เป็นปัจจัยที่ลดทอนอุปสงค์ทองคำในด้านทองคำแท่งและเหรียญในหมู่ชาวอเมริกันลง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจต้องติดตามต่อเนื่องสำหรับอุปสงค์ทองคำในปีนี้ว่าจะเป็นเช่นไร หากอุปสงค์ทองคำชะลอตัวลงอาจทำให้ราคาทองคำขาดปัจจัยที่สร้างเสถียรภาพให้กับราคา แต่หากอุปสงค์ทองคำปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้วก็จะสร้างแรงหนุนเพิ่มเติมให้แก่ราคาทองคำได้เช่นกัน
ที่มา : WGC
วาย แอล จี บูเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส