ผู้บริหารตลาดทุน ชี้การปรับลงของหุ้นทั่วโลกเป็นเพียงระยะสั้น มั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจ และผลประกอบการยังเติบโตดี คาดดัชนีสูงสุดปีนี้ที่ 1,925.74 จุด
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การดิ่งลงของตลาดหุ้นในระยะนี้ แม้จะดูน่าตกใจ แต่เป็นเพียงแค่การปรับฐานของตลาดหุ้น ซึ่งเกิดจากความกลัวเรื่องเงินเฟ้อ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการปรับตัวลงของราคาเงินดิจิทัล แต่ไม่ใช่สัญญาณของสภาวะของเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในเกณฑ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจไทยยังเติบโตเรื่อย ๆ กำไรบริษัทจดทะเบียนยังมั่นคง ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกดี การส่งออกดี เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เชื่อว่าจะเป็นตัวผลักดันราคาหุ้นให้ปรับขึ้นในที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ราคาหุ้นไทยขึ้นร้อนแรง และเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก หากมีการปรับฐานลงมาบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี และต้องติดตามความเสี่ยงจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในเดือนมีนาคมนี้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่
“การเทขายหุ้นในตลาดโลกเป็นภาวะตกใจตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นการขายจากโปรแกรมเทรดของผู้ลงทุนสถาบันที่สั่งขาย เพราะดัชนีความผันผวน หรือ VIX Index (Chicago Board Options Exchange Market Volatility Index) พุ่งทะลุ 30 จุด ซึ่งสะท้อนถึงความกลัวของผู้ลงทุน ทำให้มีการเทขายหุ้นจนเกิดการปรับฐานรุนแรงตามมา” นางวรวรรณ กล่าว
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า แม้จะเกิดการปรับตัวลงแรงของตลาดหุ้นทั่วโลก และตลาดหุ้นไทย แต่เชื่อว่าเป็นเพียงระยะสั้น การปรับฐานรอบนี้น่าจะจบแล้ว แต่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป อาจจะมีการปรับฐานได้อีก ส่วนตัวมองตลาดหุ้นยังอยู่ในภาวะร้อนแรง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังดี สภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูง และเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยโลกจะค่อยทะยอยปรับขึ้น สอดคล้องกับ
ผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุน จำนวน 27 แห่ง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ให้เป้าหมายดัชนีสิ้นเดือนนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,829 จุด ขณะที่เป้าหมายดัชนีสิ้นปีอยู่ที่ 1,860 จุด จุดสูงสุดที่ 1,925.74 จุด และต่ำสุดที่ 1,761 จุด และคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 111.74 บาท กำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตร้อยละ 11.23
ด้านนายสันติ กีระนันท์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 156.62 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.74 จากระดับ 153.94 ในการสำรวจครั้งก่อน อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างประเทศ ที่มีภาวะความร้อนแรงอย่างมาก ปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นเงินทุนที่ไหลเข้าในประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจไทย และต่างประเทศ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้
นักลงทุนยังคงให้ความสนใจหมวดธนาคาร ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ และหมวดบริการรับเหมาก่อสร้างมากที่สุด ขณะที่หมวดที่ไม่น่าสนใจ คือ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมา คือ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดเหล็ก
ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนมองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่สูงมากนัก และแนวโน้มเงินเฟ้อต่ำ
ส่วนการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ต่างชาติเทขายตราสารหนี้เงินทุนไหลออก 13,000 ล้านบาท ยอดถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 899,598 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าตราสารหนี้ทั้งหมด แม้ต่างชาติจะเทขายตราสารหนี้ แต่คงเป็นเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นปกติ ต่างชาติถือครองไม่ถึงร้อยละ 20 จึงไม่มีผลกระทบรุนแรง