xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยพบสินเชื่อแบงก์ไทยกระจุกตัว...รายเล็กเข้าถึงแหล่งทุนยาก-การลงทุนติดลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุสินเชื่อแบงก์ยังกระจุกตัว ลูกค้ารายกลางและรายเล็กยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน ทำให้การลงทุนสุทธิติดลบกว่า 60% ของค่าเสื่อมสินทรัพย์ถาวร พบ 5 แบงก์ใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 70% ของสินเชื่อทั้งหมด และมีผู้กู้รายใหญ่ 10%แรก กินส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% เมื่อเกิดวิกฤตโลกธนาคารไทยเร่งปล่อยสินเชื่อ แต่ธนาคารต่างชาติกลับชะลอตัวตามโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแม่

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยด้านนโยบายการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของสินเชื่อต่อการลงทุนภาคเอกชนในเศรษฐกิจไทย โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาในชุดข้อมูลของ ธปท. ซึ่งทำให้เรียนรู้พฤติกรรมการกู้ยืมของธนาคารและผู้ประกอบการได้ลึกซึ้งกว่าการมองจากภาวะสินเชื่อไทยและความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น

ประการที่ 1 ตลาดสินเชื่อไทยมีความกระจุกตัวสูงมาก ทั้งจากมุมมองของธนาคารผู้ให้สินเชื่อและมุมมองของผู้กู้ ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 70% ของปริมาณการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ ขณะที่ผู้กู้รายใหญ่สุด 10% แรกกินสัดส่วนสินเชื่อถึง 70% เช่นกัน การกระจุกตัวที่สูงเช่นนี้ทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารรายใหญ่ หรือการเปลี่ยนแปลงความต้องการสินเชื่อของผู้กู้รายใหญ่ เพียงไม่กี่ราย สามารถส่งผลในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจได้

จากการวิเคราะห์เชิงลึกของงานวิจัยยังพบว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมระดับประเทศมักถูกขับเคลื่อนด้วยผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่ราย ในขณะที่ผู้ประกอบการอีกจำนวนมากอาจประสบกับภาวะสินเชื่อที่แตกต่างโดยสินเชิงจากภาวะสินเชื่อที่เราเห็นในภาพรวม

ประการที่ 2 บริษัทส่วนใหญ่กู้ยืมจากเพียงธนาคารเดียว และสัดส่วนที่กู้จากแบงก์เดียวยิ่งเพิ่มสูงขึ้นสำหรับบริษัทเล็ก นอกจากนี้กว่า 60% ของบริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มธนาคารที่ทำการกู้ยืมเลย ส่วนใหญ่อาจจะสะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างธนาคารและลูกค้า ซึ่งทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงธนาคาร (relationship banking)

ประการที่ 3 ภาวะสินเชื่อแต่ละช่วงมีความแตกต่างกันระหว่างธนาคาร วัฏจักรการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยกับธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยเร่วปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง มีการขยายตัวของสินเชื่อสูง ในขณะที่ธนาคารต่างชาติกลับลดการปล่อยสินเชื่ออย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นธนาคารต่างชาติรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแม่ในต่างประเทศ

ประการที่ 4 ผู้ประกอบการขนาดเล็กเผชิญกับภาวะสินเชื่อที่มีความผันผวนมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ การวิเคราะห์เชิงเศรษฐมิติ ยืนยันว่า บริษัทขนาดเล็กและบริษัทที่มีสถานะทางการเงินค่อยข้างอ่อนแอจะประสบกับภาวะสินเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาวะสินเชื่อสำหรับบริษัทรายใหญ่และบริษัทที่มีสถานะการเงินแข็งแรงมักไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก สะท้อนว่า ธนาคารมีพฤติกรรมการปล่อยกู้ที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภทโดยบริษัทขนาดเล็กและบริษัทที่อ่อนแอทางการเงินมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความผันผวนของสินเชื่อทั้งในขาขึ้นและขาลงของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทวีความเปราะบางทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทเหล่านี้

ประการที่ 5 การลงทุนของบริษัทขนาดเล็กมีความอ่อนไหวต่อสินเชื่อมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ พบว่าภาวะสินเชื่อของแต่ละธนาคารส่งผลกระทบต่อระดับการลงทุนของผู้กู้รายเล็กกว่าผู้กู้รายใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนความสามารถของบริษัทขนาดใหญ่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทดแทนไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อจากธนาคารแห่งอื่น หรือการระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุนตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่บริษัทรายเล็กพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารแห่งเดียวเป็นหลัก การตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงมิได้ขึ้นอยู่กับโอกาสทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังอ่อนไหวต่อภาวะสินเชื่อจากธนาคารเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น