ธนาคารกสิกรไทย เผยปีนี้ตั้งเป้าปล่อยกู้สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่ม 4-6% หลังเศรษฐกิจฟื้น และการลงทุนขนาดใหญ่เริ่มส่งผลดีถึงเอสเอ็มอีในบางกลุ่ม ขณะเอ็นพีแอลลด
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยกู้สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 4-6% หรือมียอดคงค้างที่ 736,000 ล้านบาท จากยอดคงค้างสินเชื่อในปี 2560 ที่ 698,000 ล้านบาท มียอดปล่อยกู้ใหม่ 210,000-220,000 ล้านบาท จากแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลน่าจะเริ่มส่งผลดีถึงกลุ่มเอสเอ็มอีบางกลุ่ม ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มลดลงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จากแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ที่ลดลง โดยปลายปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 5% กว่า และจะรักษาระดับดังกล่าวไว้จนถึงปลายปีนี้
นอกจากนี้ ยังกำหนดยุทธศาสตร์ ธนาคารเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ การให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร โดยเน้นการพิจารณาสินเชื่อด้วยการบริหารห่วงโซ่ทางธุรกิจ (K-Value Chain Solution) จากปี 2560 ที่มีลูกค้ากลุ่มนี้กว่า 2,200 กลุ่ม โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค กลุ่มฮาร์ดแวร์และอะไหล่ กลุ่มน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐาน มียอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ในปี 2560 รวม 18,000 ล้านบาท และจะยังเน้นเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีเอ็นพีแอลต่ำ
คาดว่าในปีนี้จะมีสินเชื่อใหม่ 20,000 ล้านบาท และบริการเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์แบบครบวงจร (K-Franchise Solution) ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารแห่งแรกที่เริ่มทำสินเชื่อแฟรนไชส์ เพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจ โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ รวมถึงสนับสนุนการใช้นวัตกรรมการเงินดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) โดยมุ่งสนับสนุนการทำธุรกรรมของเอสเอ็มอี เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ด้วยบริการ K PLUS SHOP แอปพลิเคชันสำหรับร้านค้า รับชำระเงินด้วย QR Code ไม่ต้องบอกเลขที่บัญชี และไม่ต้องมีเงินทอน ร้านค้ารับจ่ายเงินคล่องตัว โดยในปัจจุบันมีร้านค้าใช้บริการแล้ว 710,000 ร้านทำ
รายการผ่าน K PLUS SHOP จำนวน 1,300,000 รายการ เติบโตประมาณ 5% คิดเป็นเงิน 829 ล้านบาท มีค่าเฉลี่ยประมาณ 500 บาทต่อธุรกรรม และบริการ KBank Mini EDC เครื่องรับจ่ายเงินที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการขายของร้านค้าขนาดเล็ก ด้วยฟังก์ชันชำระเงินแบบ All in One ที่รองรับการใช้งานผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต QR code ของโมบายแบงกิ้ง ทุกธนาคารในประเทศ รวมทั้ง Alipay กับ WeChat Pay อีกด้วย
นอกจากนี้ ในด้านการใช้ Data Analytic เทคโนโลยีวิเคราะห์สินเชื่อ (Data Analytic Lending) ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ และประมวลผลธุรกรรมทางการเงินของผู้ประกอบการทั้งขารับและขาจ่าย ทำให้เข้าใจและรู้ความต้องการสินเชื่อ และนำเสนอวงเงินได้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้ ธนาคารจะขยายการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อต่อไป
ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อด้วยเทคโนโลยีเป็น 30% หรือคิดเป็นวงเงิน 60,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 10% หรือคิดเป็นวงเงิน 22,000 ล้านบาท และการให้บริการที่มากกว่าด้านการเงิน (Beyond Banking) ไม่ว่าจะเป็นจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย และส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ การจัดโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมทำธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างนวัตกรรมต่อยอดผู้ประกอบการ” เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจผลิตอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจฮาร์ดแวร์ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเฟ้นหาฟินเทค และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อต่อยอดบริการที่มากกว่าบริการด้านการเงิน ให้เป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการได้ทั้งในลักษณะของการนำเสนอคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารไปจนถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างระบบของฟินเทคกับระบบของธนาคาร