“บิทคอยน์” เงินดิจิตัล กำลังแบ่งคนในโลกยุคนี้ออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต่อต้านธุรกรรมบิทคอยน์ในทุกรูปแบบ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกระโดดเข้าร่วมธุรกรรมบิทคอยน์อย่างเต็มตัว ไม่หวั่นไหวในการเข้าไปเก็งกำไร
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหนึ่งในคนที่แสดงท่าทีต่อต้านการซื้อขายเงินบิทคอยน์ โดยมองว่า เป็นบ่อนพนัน และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาว่าจะมีแนวทางกำกับดูแลเงินสกุลดิจิทัลให้ชัดเจนอย่างไร
แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งดูแลตลาดทุนโดยตรง ยังอยู่ในภาวะสับสน อลหม่าน ไม่รู้ว่าจะกำกับดูแลบิทคอยน์อย่างไร
จะปิดกั้นการลงทุนบิทคอยน์ หรือไม่ ในเมื่อทั่วโลกเงินดิจิทัลสกุลนี้ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากขึ้น มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละวัน มากกว่ามูลค่าการซื้อขายหุ้นของไทยประมาณ 3 เท่าตัว หรือซื้อขายกันทั่วโลกมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อวัน
ระหว่างที่ ก.ล.ต.พิจารณาว่า จะเอาอย่างไรดีกับเงินดิจิทัล “บิทคอยน์” ได้รุกคืบเข้าไปในตลาดทุน จนเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นทุกที ในหมู่นักลงทุนรุ่นใหม่ มีศูนย์รับซื้อขายแลกเปลี่ยน มีแหล่งที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับสกุลเงินในโลกยุคใหม่
และมีการออก “บิทคอยน์” ของไทยโดยเฉพาะขึ้นมาแล้ว
“บิทคอยน์” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบ “บล็อกเชน” หรือกรอบของห่วงโซ่ข้อมูลในระบบดิจิทัล โดย “บล็อกเชน” เป็นระบบข้อมูลที่ไม่สามารถ “แฮก” ได้ เปลี่ยนแปลงหรือทำลายไม่ได้ เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากแหล่งกำเนิดต้นทางเท่านั้น
และเงินสกุลดิจิทัล ไม่ได้มีเฉพาะ บิทคอยน์ แต่มีคอยน์อีกหลายสกุล เพียงแต่ บิทคอยน์ เป็นเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุด
“บิทคอยน์” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปืที่ผ่านมา โดยนายซาโตชิ ซึ่งเป็นชื่อแฝงหรือนามปากกา และจนบัดนี้ยังไม่รู้ว่านายซาโตชิเป็นใคร อยู่ที่ไหน สัญชาติอะไรแน่
นายซาโตชิ ผู้ให้กำหนดบิทคอยน์ กำหนดออกบิทคอยน์ ทั้งสิ้น 21 ล้านเหรียญ โดยนายซาโตชิ เก็บ 100,000 เหรียญแรกไว้ ส่วนเหรียญที่เกิน เปิดให้ผู้ที่อยากได้ “ขุด” หาเอา โดยมีระบบคอมพิวเตอร์ที่จะเข้าไป “ขุด” หรือเข้าไปถอดรหัสสมการ
คอมพิวเตอร์ทื่จะใช้ “ขุด” ต้องมีสมรรถภาพสูง ซึ่งเดิมเครื่องละไม่กี่หมื่นบาท แต่ล่าสุดราคาขยับขึ้น เนื่องจากมีผู้สนใจ “ขุด” จำนวนมาก ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์มากขึ้น จนผลิตขายไม่ทัน ราคาจึงขยับขึ้น โดยคอมพิวเตอร์เกรดดี คุณภาพสูง ราคาขยับขึ้นไปประมาณเครื่องละ 200,000 บาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 7-8 หมื่นบาท
การ “ขุด” หาบิทคอยน์ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อถอดรหัสสมการได้ จะได้รับบิทคอยน์ ทันที 1 เหรียญ แต่การขุดเจอแต่ละครั้ง อาจได้บิทคอยน์เพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น
เงินสกุลทั่วโลกที่ใช้กันอยู่ จะมีจุดทศนิยมเพียง 2 หลัก แต่ "บิทคอยน์" มีจุดทศนิยมถึง 24 หลัก หรือมีตัวเลขหลังจุดทศนิยมถึง 24 ตัว เพียงแต่ที่ใช้กันอยู่ จะใช้จุดทศนิยม 6 - 8 หลักเท่านั้น
การถอดสมการ “ขุด” บิทคอยน์ แต่ละครั้ง อาจได้รับบิทคอยน์เพียง 0.00001 บิทคอยน์ก็ได้
การใช้จ่ายด้วยเงินบิทคอยน์ เริ่มต้นครั้งแรก เมื่อเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยแฮกเกอร์เข้าไปป่วนข้อมูลองค์กรต่าง ๆ และเรียกค่าไถ่การ “แฮก” ขอให้ชำระเป็น "บิทคอยน์"
ตอนนั้น "บิทคอยน์" มีราคา เหรียญละประมาณ 20 เซนต์ ตามเงินสกุลสหรัฐ
ต่อมา มีการใช้ “บิทคอยน์” ใช้จ่ายในระบบเกมคอมพิวเตอร์ ก่อนที่บริษัท ไมโครซอฟท์ จะยอมรับ สามารถนำมาใช้ชำระสินค้าของไมโครซอฟท์ได้ หลังจากนั้นความนิยมแพร่กระจาย จนหลายประเทศ ยอมรับเป็นเงินสกุลใหม่ที่สามารถจับจ่ายใช้ซื้อสินค้าได้ ไม่ว่าในประเทศ ฯ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐ รัสเซียและประเทศต่าง ๆ
ความนิยมในบิทคอยน์ ที่ขยายตัวในวงกว้าง เพราะมีความเชื่อมั่นว่า บิทคอยน์จะเป็นเงินสกุลสำคัญในโลกอนาคต เป็นเงินสกุลที่ปลอดภัย เป็นเงินสกุลที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมในการเคลื่อนย้ายเหมือนทำธุรกรรมการเงินผ่านสถาบันการเงิน ไม่มีใครแทรกแซงได้
และมูลค่าเงินจะเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง
จากมูลค่าประมาณ 20 เซนต์ หรือประมาณ 6.60 บาท เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 แสนบาท หลังจากเคยขยับขึ้นไปประมาณ 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ
“บิทคอยน์” จะเป็นเงินดิจิทัลที่ทำให้เกิดหายนะ หรือเป็นเงินในโลกยุคใหม่ ที่ทำให้ผู้ที่ครอบครองเกิดความมั่งคั่ง อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้