ทิสโก้ ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้เติบโตที่ 0-5% ระบุแม้เศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้น แต่ยังมีบางจุดต้องระวัง ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถกลับมาทรงตัวได้จากปีก่อนที่ติดลบ 5% ด้านเอ็นพีแอล ทรงตัวระดับเดิมที่ 2.3% พร้อมเตรียมสำรองรับ IFRS9 เพียงพอแล้ว
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ ในปี 2561 ยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในทุกกลุ่มทั้งลูกค้ารายย่อย กลุ่มลูกค้าธนบดีธนกิจ และกลุ่มลูกค้าบรรษัท ด้วยการนำเสนอบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการในกลุ่ม (Cross Selling) และขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีการเติบโต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า เช่น การพัฒนาช่องทางการบริการไปยังเครือข่ายดิจิทัล
“กลยุทธ์ของทิสโก้ ในปีนี้ก็คงคล้าย ๆ กับที่ผ่านมา คือ ทำสิ่งที่เราถนัด แข่งขันได้ แล้วก็มีกำไร ซึ่งก็จะต้องมองไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ตลาดที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าถึง เราก็จะเน้นไปที่ตัว สมหวัง เงินสั่งได้ แล้วก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่การเป็นที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ดีกับลูกค้า และการพัฒนาในช่องทางดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป”
สำหรับเป้าหมายสินเชื่อในปี 2561 ตั้งไว้ที่ระดับ 0-5% แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาบางส่วนของประชาชนยังคงมีอยู่ ดังจะเห็นได้หนี้เสียของกลุ่มลูกค้ารายย่อย และธุรกิจขนาดเล็ก ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดไม่เกินกลางปีนี้ และน่าจะค่อย ๆ ลดลง ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศก็ยังมีความผันผวนอยู่จากทิศทางนโยบายของธนาคารกลางประเทศขนาดใหญ่ ทำให้ธนาคารยังต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังไว้ก่อน
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า ในปี 2561 ธนาคารยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่องจากพอร์ตสินเชื่อรวมปีก่อนที่ 2.5 แสนล้านบาทเป็น 2.6 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อาจจะทรงตัว
แม้ยอดขายรถจะเติบโตขึ้น แต่ก็จะมีส่วนของรถยนต์จากโครงการรถคันแรกที่ครบกำหนดชำระออกไป จึงเป็นส่วนที่ชดเชยกันไป ขณะที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี น่าจะเติบโตได้สูงกว่า แต่มีสัดส่วนที่ 25% ของพอร์ต ทำให้ภาพรวมแล้วมาอยู่ที่ 0-5%
“แม้ภาพรวมของตลาดรถยนต์ปีนี้จะดีขึ้น โดยประเมินว่า ในปีนี้ยอดขายรถยนต์ใหม่จะเพิ่มเป็น 920,000 คัน จากปีก่อนหน้าที่ระดับ 850,000 คัน แต่ส่วนที่ครบกำหนดชำระออกไปก็มีอยู่พอสมควร ซึ่ง ณ ระดับทรงตัวก็ถือเป็นระดับที่รับได้จากปีก่อนที่เช่าซื้อรถเรายังติดลบอยู่ 5%”
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น แนวโน้มน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 2.3% จาก 2.5% ในปีก่อนหน้า และคาดว่าในปีนี้จะทรงตัว ดังนั้น ความกดดันในการตั้งสำรองฯ ของธนาคาร จึงมีไม่มาเท่าเดิม ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ได้เตรียมตั้งสำรองเพื่อรองรับมาตรฐานใหม่ IFRS9 ไว้เพียงพอแล้ว ขณะที่ Coverage Ratio อยู่ในระดับสูงที่ 197% แล้ว ดังนั้น แนวโน้มการสำรองในปีนี้ไม่น่าจะมีจำนวนมากเท่าเดิม