สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเดิมผลงานชิ้นใหญ่รับปี 2561 ประกาศร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้บริหารและอดีตผู้บริหาร บริษัท เค.ซี.พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KC จำนวน 7 ราย ฐานทุจริต ยักยอกเงินจำนวน 425 ล้านบาท
ความผิดเกิดขึ้นระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนตุลาคม 2559 โดยผู้บริหาร KC ทั้ง 7 ราย ได้ออกตั๋วแลกเงินรวม 25 ฉบับ มูลค่าฉบับละ 25 - 150 ล้านบาท ก่อนปลอมแปลงเอกสารการประชุมบริษัท ฯ โอนเงินจากการออกตั๋วแลกเงิน กระจายเข้าบัญชีของผู้ร่วมกระทำความผิด
การผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ทำกันเป็นกระบวนการ ไม่มีใครตรวจสอบพบ จนกระทั่งก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบและกล่าวโทษ
แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องแบกรับความเสียหายไปแล้ว
คำถามคือ การผ่องถ่ายเงินเกิดขึ้นเฉพาะ KC เท่านั้นหรีอมีเพียงกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้เท่านั้น หรือที่ตั้งแก๊ง รวมหัวปล้นเงินผู้ถือหุ้นรายย่อย
KC ถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย “เอสพี” พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2560 เนื่องจากออกตั๋วแลกเงินจำนวน 350 ล้านบาท โดยไม่ได้ลงบันทึกบัญชีในงบการเงิน และยังไม่ได้ส่งงบการเงินตามกำหนด ราคาหุ้นปิดครั้งสุดท้ายที่ 1 บาท
ผู้ถือหุ้นรายย่อย KC มีจำนวนทั้งสิ้น 3,584 ราย ทั้งหมดกลายเป็นเจ้าทุกข์ ถูกผู้บริหารบริษัทฯ รวมหัวโกงและแปรสภาพเป็นหุ้นเน่า
บริษัทจดทะเบียนที่ตกอยู่ในฐานะ “หุ้นเน่า” ถูกพักการซื้อขาย สร้างความเสียหายย่อยยับกับนักลงทุน ไม่ได้มีเพียง KC เท่านั้น แต่ยังมีบริษัทจดทะเบียนอีกนับสิบ ๆ แห่งที่มีสภาพตายซากไม่แตกต่างจาก KC
หุ้นเน่าเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารที่ไม่สุจริต มีการผ่องถ่ายเงินในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์สินในราคาแพงเกินจริง รับ “เงินทอน” เข้ากระเป๋ากรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน
ยังมีบริษัทจดทะเบียนอีกนับสิบแห่งที่มีการยักยอกเงินจากผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกัน แต่กรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หน้าขี้โกงเหล่านั้น ยังลอยนวล และเปิดปฏิบัติการไซฟ่อนจากตลาดหุ้นอยู่
ระบบตรวจสอบ ควบคุมและกำกับดูแล การดำเนินธุรกรรมบริษัทจดทะเบียน แม้จะมีขั้นตอนกลั่นกรองหลายชั้น แต่ไม่อาจป้องกันการสูบเงินจากตลาดหุ้น
ทุกบริษัทจดทะเบียน มีคณะกรรมการตรวจสอบ มีคณะกรรมการอิสระ มีผู้ตรวจสอบบัญชี มีตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา ตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ ติดตามการบริหารงานของกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน
แต่ไม่อาจทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจได้ว่า จะได้รับการคุ้มครองที่ดี จากทุกหน่วยงานที่กำกับดูและบริษัทจดทะเบียน
การกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร KC แม้เป็นสิ่งยืนยันว่า ระบบการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ยังไม่ได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเสียทีเดียว แต่ก็สิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการกำกับบริษัทจดทะเบียน ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนได้
เพราะแม้จะมีการกล่าวโทษแก๊งไซ่ฟ่อนเงินจาก KC แต่ไม่อาจช่วยให้ผู้ถือหุ้น KC รอดพ้นจากความเสียหายที่ก่อขึ้น ด้วยน้ำมือกรรมการและผู้บริหารบริษัทได้
แก๊งไซฟ่อนเงินในตลาดหุ้น ยังซุ่มซ่อนอยู่ในบริษัทจดทะเบียนอีกนับสิบนับร้อยแห่ง และรอเปิดปฏิบัติการสูบเงินต่อไป โดยมีนักลงทุนอีกนับหมื่นนับแสนรายที่จะตกเป็นเหยื่อ
ก.ล.ต.ต้องทบทวนระบบการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนเสียแล้ว ทำอย่างไรจึงจะป้องการไซ่ฟ่อนได้ ก่อนที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องรับเคราะห์กรรม ทำอย่างไร จึงจะกำจัดแก๊งไซฟ่อนที่พร้อมเปิดปฏิบัติการสูบเงินจากตลาดหุ้นให้สิ้นซาก
และทำอย่างไรผู้ลงทุนในตลาดหุ้นจะได้นอนตาหลับ ไม่ถูกแก๊งมิจฉาชีพปล้น จนบริษัทจดทะเบียนเหลือแต่ซาก