“ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้” เผยปี 61 ตั้งเป้าดันรายได้โต 10% เตรียมทำการตลาดรูปแบบใหม่ให้พาร์ตเนอร์-คู่ค้า เช่าแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์ เผยลูกค้าสนใจเพียบ แจกข่าวดี! รับปีจอ เตรียมกดปุ่มสตาร์ทโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศอินเดีย เดือน ม.ค. นี้-เตรียมสรุปบิ๊กโปรเจกต์ค่ายรถยนต์มาสด้า มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ดันงานในมือพุ่ง จากปัจจุบันตุน Backlog มูลค่า 800-900 ล้านบาท จ่อบุ๊กส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้ามาเต็มปีกว่า 30-40 ล้านบาท
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประเมินว่า แนวโน้มรายได้และกำไรในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมีโอกาสเห็นผลประกอบการทำสถิติสูงสุดใหม่ เนื่องจากมีออเดอร์ใหม่ ๆ เข้ามาตลอด โดยเฉพาะงานด้าน OEM จากลูกค้าในแถบทวีปยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันได้รับความไว้วางใจในการส่งคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นตลอด โดยงานผลิตชิ้นส่วนแบบ OEM ถือว่ามีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง โดยคาดว่าปีนี้ยังคงตั้งเป้ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% อีกทั้งยังมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท ไพรซ์ ออฟวู้ด กรีน เอนเนอร์ยี จำกัด (PWGE) ที่จังหวัดนราธิวาส ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7.5 เมกะวัตต์ ซึ่งลงทุนผ่านบริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้ง จำกัด (SAFE) ในฐานะบริษัทร่วมทุน ถือหุ้นในสัดส่วน 33.37% ซึ่งได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นเวลา 20 ปี ทำให้บริษัทฯ มีรายได้ประจำ (Recurring Income) เข้ามาเฉลี่ยปีละ 30-40 ล้านบาท และยังคงมองหาการลงทุนในโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนความคืบหน้าโรงงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศอินเดีย เตรียมเปิดเดินเครื่องในเดือนมกราคม 2561
ปัจจุบันมีแม่พิมพ์ทั้งสิ้น 11 ตัว อยู่ระหว่างขนส่ง 7 ตัว และเตรียมส่งจากประเทศไทยไปติดตั้งเพิ่มเติมอีก 12 ตัว รวมแล้วภายในปีนี้จะมีแม่พิมพ์ที่โรงงานในประเทศอินเดีย อยู่ประมาณ 30 ตัว เพื่อรองรับออเดอร์ที่มีเข้ามาแล้วกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานของปีนี้ จำนวน 200 ล้านบาท
นอกจากในไตรมาส 1/2561 บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับออเดอร์ใหม่ ซึ่งถือเป็นบิ๊กโปรเจกต์ของรถยนต์มาสด้า จากประเทศออสเตรเลีย ระยะเวลา 2 ปี มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ทำให้ทั้งในส่วนของ OEM และ REM ผลักดันงานในมือ (Backlog) ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 800-900 ล้านบาท
“ในปีนี้บริษัทฯ ได้มีการจัดทำกลยุทธ์การตลาดแบบใหม่ โดยเป็นรูปแบบโมเดลของการให้เช่าแม่พิมพ์ โดยทางบริษัทจะมีการนำแม่พิมพ์ส่งไปให้พาร์ตเนอร์ หรือคู่ค้าทางธุรกิจ ที่ต้องการแม่พิมพ์อะไหล่รุ่นนั้น ๆ ไปฉีดถึงประเทศต้นทาง ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการให้เช่าแม่พิมพ์ต่อโมเดล ซึ่งการให้เช่าแม่พิมพ์ดังกล่าว ไม่มีต้นทุน เนื่องจากแม่พิมพ์ต่าง ๆ ที่ลูกค้าต้องการทาง FPI มีแม่พิมพ์เหล่านั้นอยู่แล้ว ส่วนการขนส่ง ทางลูกค้าที่ต้องการแม่พิมพ์เป็นผู้ดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีลูกค้าในหลายประเทศให้ความสนใจในโมเดลดังกล่าว อาทิ อินเดีย, เอกวาดอร์, บราซิล, อียิปต์ และตุรกี เนื่องจากลูกค้าที่เช่าแม่พิมพ์ไป สามารถประหยัดภาษีนำเข้า และจ่ายเพียงแค่ค่าเช่าแม่พิมพ์และค่าฉีดให้เราเท่านั้น ทำให้ลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งการเช่าแม่พิมพ์แต่ละ Model จะมีกำไรจากการเช่า ประมาณ 500,000 ต่อการเช่า 1 ครั้ง ต่อแม่พิมพ์หนึ่งตัว” นายสมพล กล่าว