เอ็น.ดี. รับเบอร์ เปิดแผนธุรกิจปี 61 ตั้งเป้ารายได้แตะที่ระดับ 1,000-1,100 ล้านบาท หลังเข้าซื้อกิจการ FKRMM ที่มาเลเซีย จ่อบุ๊กรายได้เข้ามาทันทีใน Q1/61 ระบุ FKRMM เป็นแบรนด์ที่รู้จักของผู้บริโภคนานกว่า 50 ปี พร้อมมองตลาดในอินเดีย และมาเลเซีย ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เตรียมทุ่มงบลงทุน 180-200 ล้านบาท ซื้อกิจการ FKRMM-ลงทุนระบบออโตเมชัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน
นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2561 ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 1,000-1,100 ล้านบาท หลังเข้าซื้อกิจการของ Fung Keong Rubber Manufactory (Malaya) Sdn. Bhd. (FKRMM) ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในวันที่ 18 มกราคม 2561 บริษัทฯ จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการทำรายการดังกล่าว โดยคาดว่าจะทำรายการแล้วเสร็จภายใน 60 วัน และจะรับรู้รายได้เข้ามาทันทีในไตรมาส 1/2561
FKRMM เป็นแบรนด์ที่รู้จักของผู้บริโภคมากว่า 50 ปี เป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย มากกว่า 79 ราย รวมถึงมีคลังสินค้าในการจัดเก็บและกระจายสินค้าที่เป็นของตัวเองถึง 4 แห่งในประเทศมาเลเซีย ซึ่งการเข้าซื้อ FKRMM จะเป็นการเสริมกันกับธุรกิจของบริษัทฯ เนื่องจากที่ผ่านมา NDR เป็นผู้ผลิตสินค้ายางในและยางนอกรถจักรยานยนต์ให้แก่กลุ่มบริษัท FKRMM เพื่อนำไปจัดจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย โดยรายได้ประมาณ 40% ของรายได้รวม และรายได้ประมาณ 80% ของรายได้ที่ส่งออกเป็นรายได้ที่จัดจำหน่ายให้แก่กลุ่ม FKRMM
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้า และเป็นการสร้างโอกาสในการจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตจากยาง นอกเหนือจากยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ และรองเท้าในประเทศมาเลเซีย และประเทศใกล้เคียงให้แก่บริษัทฯ ในอนาคต และภายหลังการเข้าทำรายการเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะแต่งตั้งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทของ FKRMM จำนวน 2 ท่าน และแต่งตั้งผู้บริหารเพื่อเข้าไปบริหารงานของ FKRMM จำนวน 1 ท่าน
สำหรับงบลงทุนในปี 2561 อยู่ที่ 180-200 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ลงทุนในการซื้อกิจการ FKRMM จำนวน 150 ล้านบาท โดยเม็ดเงินลงทุนจะมาจากใช้เงินจากธนาคารพาณิชย์, เงินจากการแปลงสภาพวอร์แรนต์ และเงินทุนหมุนเวียน และ 2. ลงทุนระบบออโตเมชัน จำนวน 30-50 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต โดยเม็ดเงินลงทุนมาจากเงินหมุนเวียนของกิจการ ทั้งนี้ บริษัทฯ ใช้กำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ 70% ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการ จึงไม่ต้องใช้งบลงทุนในส่วนนี้ โดยมีกำลังการผลิตยางนอกรถจักรยานยนต์ อยู่ที่ 3.5 ล้านเส้นต่อปี และยางในรถจักรยานยนต์ อยู่ที่ 7.2 ล้านเส้นต่อปี
“แนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมมองว่า ตลาดในประเทศน่าจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจากมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาเพิ่ม แต่ตลาดอินเดีย คาดว่าน่าจะกลับมาดีกว่าปีก่อน หลังจากเริ่มมีออเดอร์เข้ามาในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีก่อน ส่วนตลาดมาเลเซีย คาดว่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 2/2561 หลังจากที่บริษัทฯ เข้าไปบริหารงานแล้ว และคาดว่ายอดขายในปี 2561 น่าจะดีกว่าปี 2560 อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความระมัดระวังเรื่องของต้นทุนการผลิตด้วย” นายชัยสิทธิ์ กล่าว