xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพาณิชย์ ยันแบงก์ตรวจหลักฐานตามระเบียบ หลังคนร้ายสวมบัตร ปชช. เปิดบัญชี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารไทยพาณิชย์ ยืนยันเจ้าหน้าที่แบงก์ ตรวจพิสูจน์ตามระเบียบ หลังคนร้ายสวมบัตรประชาชนเปิดบัญชี ขอรัฐเชื่อมข้อมูลทะเบียนราษฎร์มา 3-5 ปี แต่ไร้ผล

จากกรณีที่มีหญิงสาวรายหนึ่งโดนมิจฉาชีพนำบัตรประจำตัวประชาชนที่โดนขโมยไปเปิดบัญชีธนาคาร และมีการหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภค หรือชักชวนให้ร่วมลงทุน จนหลายคนหลงเชื่อ และโอนเข้าบัญชีเงินฝาก มีมูลค่าความเสียหายเกิดขึ้น

นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดการป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นกรณีนี้ พบว่า มิจฉาชีพรายดังกล่าวมีการเตรียมตัวเพื่ออำพรางตัวเองให้เหมือนกับเจ้าของบัตรประชาชน ทำให้เจ้าหน้าที่สาขาธนาคารทั้ง 7 แห่งหลงเชื่อ โดยยืนยันว่า การตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานของเจ้าหน้าที่ธนาคาร ทำตามระเบียบข้อบังคับที่ได้อบรมมาอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารสามารถตรวจสอบข้อมูลลูกค้าที่ขอเปิดบัญชีได้ในระดับหนึ่ง เช่น ข้อมูลย้อนหลัง การเปรียบเทียบลักษณะกับบัตรประชาชน รวมถึงการตรวจสอบว่าเป็นบัตรประชาชน ปลอมหรือไม่ผ่านชิปการ์ดบนบัตรประชาชน แต่ไม่สามารถรู้ถึงประวัติอาชญากรรม หรือรับทราบว่า บัตรประชาชนนั้นถูกอายัดหรือไม่ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเชื่อมข้อมูลกับสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยได้ มีเพียงธนาคารรัฐเท่านั้นที่ทราบข้อมูลการถูกอายัดบัตรประชาชน

ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทย ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย มานาน 3-5 ปีแล้ว เพื่อขอเชื่อมข้อมูลระบบ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะแม้ว่าเจ้าของบัตรจะแจ้งบัตรหาย แต่ข้อมูลไม่แสดงที่ธนาคารว่า บัตรประชาชนใบนี้ถูกอายัดไปแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารก็จะเปิดบัญชีให้ตามปกติ

“ถ้าหากเป็นลูกค้าเดิม ธนาคารจะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่าย แต่หากเป็นลูกค้าใหม่ การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าจะใช้การตรวจสอบจากบัตรประชาชน หากไม่นำบัตรประชาชนตัวจริงมา ก็ไม่สามารถเปิดบัญชีกับธนาคารได้ ดังนั้น จะใช้วิธีการตรวจสอบจากหน้าบัตรประชาชนกับผู้ที่ถือบัตรว่าต้องตรงกัน” นายพงษ์สิทธิ์ กล่าว

นายพงษ์สิทธิ์ กล่าวว่า กรณีขโมยบัตรประชาชนแล้วมาเปิดบัญชี มีโทษหนักในคดีฉ้อโกง ซึ่งมีโทษหนักกว่า การรับจ้างเปิดบัญชี โดยปัจจุบัน คดีขโมยบัตรประชาชนแล้วมาเปิดบัญชีมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 จากคดีทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น