xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยคดีหุ้นปี 60 / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นับสิบ ๆ คดี แต่มีเพียง 3 คดีที่เป็นความผิดร้ายแรง โดยมีผู้ร่วมกระบวนการกระทำความผิดจำนวนมาก



คดีความผิดทั่วไป ซึ่งโทษอยู่ในขั้นปรับ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการไม่ส่งงบการเงินตามเวลาที่กำหนด โดยแต่ละปีมีการกล่าวโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนนับสิบ ๆ คดี และผู้ถูกกล่าวโทษมักยอมรับสารภาพ ซึ่งศาลจะลดโทษ ปรับเพียงกึ่งหนึ่ง

ส่วนคดีใหญ่ ความผิดร้ายแรง ข้อหาหนัก และมีโอกาสถูกลงโทษจำคุก ปีนี้มีเพียง 3 ปี เริ่มด้วยการกล่าวโทษนางณีรนุช ณ ระนอง อดีตรองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือหุ้น TRITN ( เดิมชื่อบริษัท ไลฟ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น LIVE

นายอภินันท์ ปัญญากร อดีตกรรมการบริหาร TRITN พร้อมพวก ในการทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท ระหว่างปี 2556 - 2557 โดยถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560

คดีต่อมา ก.ล.ต. ประกาศวันที่ 20 มิถุนายน 2560 กล่าวโทษ นายอนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท เอไอ เอ็นเนอร์จี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น AIE พร้อมด้วยนายนพพล ธารีรัตนาวิบูลย์ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี AIE

ในความผิดฐานไม่บันทึกบัญชีรายได้ เป็นเหตุให้งบการเงินปี 2557 แสดงรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง 135 ล้านบาท เป็นการลวงบุคคลอื่นให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลประกอบการที่แท้จริงของบริษัท

คดีสุดท้าย ก.ล.ต. กล่าวโทษประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ร้องทุกข์ดำเนินคดีนายภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตผู้บริหารบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น IEC พร้อมพวกรวม 25 คน ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์กว่า 200 ล้านบาท โดยมีความผิดต่างกรรมต่างวาระรวม 9 กระทง

คดีใหญ่ปีนี้ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยทั้ง 3 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปี คดีจึงเข้าสู่การพิจารณาของศาล ภายใต้เงื่อนไขว่า คดีจะไม่ถูกตัดตอนในชั้นสอบสวนของดีเอสไอหรือในชั้นการพิจารณาสำนวนฟ้องของอัยการเสียก่อน

การดำเนินคดีตามความผิดในตลาดหุ้น มักเป็นไปอย่างล่าช้า ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล รวบรวมหลักฐาน เพื่อกล่าวโทษของก.ล.ต. โดยบางคดีอาจใช้เวลาถึงสิบปีจึงกล่าวโทษได้

แม้ปัจจุบัน ก.ล.ต. จะปรับระบบการทำงาน ทำให้สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังใช้เวลาตรวจสอบรวบรวมหลักฐานหลายปีอยู่ดี

และเมื่อถูกส่งเข้าสู่กระบวนการสอบสวน คดีหุ้นจะเงียบหาย เพราะจมอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีหลายสิบคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนมาหลายปีแล้ว โดยยังไม่พูดถึงขั้นตอนการพิจารณาสำนวนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการ

ความผิดเกี่ยวกับตลาดหุ้นแค่ละคดี ต้องใช้เวลานับสิบปี จึงจะมีการพิจารณาตัดสินลงโทษ ซึ่งนักลงทุนลืมความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดไปแล้ว

แม้ศาลจะตัดสินลงโทษหนัก สำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ยักยอกทรัพย์ บางคดีสั่งลงโทษจำคุก 20 ปี แต่ไม่มีข่าวตีแผ่สู่สาธารณชนมากนัก เพราะคดีหลุดออกจากกระแสความสนใจของประชาชนแล้ว คดีร้ายแรงในตลาดหุ้นปี 2560 คงต้องรอกันยาว รอกันจนลืม กว่าคดีจะสิ้นสุด โดยมีคำตัดสินของศาล

คดีหุ้นที่หลุดจากระแสความสนใจของสาธารณชน ไม่ใช่เรื่องดีเสียเลย เพราะเมื่อไม่ถูกติดตาม สังคมที่ตรวจสอบอาจเกิดการวิ่งเต้นตัดตอนได้

เพราะอาชญากรในตลาดหุ้นแต่ละกลุ่มหรือแต่ละคน กอบโกยเงินมหาศาล โกงกันเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท ถ้าจะโยนเงินก้อนโต ๆ เพื่อล้มคดีหุ้น ย่อมมีโอกาสทำได้ และในอดีตเคยมีข่าวฉาวโฉ่ การวิ่งเต้นล้มคดีปั่นหุ้นมาแล้ว

ปี 2560 ก.ล.ต. กล่าวโทษคดีหุ้นที่มีพฤติกรรมความผิดร้ายแรงเพิ่มขึ้นอีก 3 คดี และถ้ารวมคดีที่กล่าวโทษปีก่อนๆหน้า มีคดีหุ้นที่ค้างเติ่งรอการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมหลายสิบคดี และสังคมควรต้องเฝ่าติดตามตรวจสอบความคืบหน้าในขั้นตอนการดำเนินคดีของแต่ละหน่วยงาน

เพราะถ้าไม่ร่วมกันติดตามตรวจสอบ ปล่อยให้คดีหุ้นเงียบหาย อาชญากรในตลาดหุ้นอาจหลุดรอดลอยนวลได้



กำลังโหลดความคิดเห็น