บอร์ด "เฮ้าส์ เฟรนด์ลี่" คลี่แผนเข้าตลาด MAI หวังสร้างยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด ลดต้นทุนการเงินเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมสั่งศึกษาความเป็นไปได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลังปรับกลุ่มลูกค้าเน้นโครงการจัดสรร ส่งผลรายได้โตกระฉูดมากกว่า30% ต่อเนื่อง 4 ปีติด แจงสถานการณ์ตลาดเหล็กแนวโน้มขาขึ้น ล่าสุดต้นทุนเหล็กขยับไปแล้วกว่า 16-17% ขณะที่บริษัทปรับราคาขายเพียง10%
นายสรพล คงรอด กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮาส์ เฟรนด์ลี่ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตโครงหลังคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ อีซี่ทรัส (EASY TRUSS)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ไปศึกษาแนวทางการนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI หลังบริษัทมีอัตราการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่องในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาโดยสามารถสร้างยอดขายเติบโตมากกว่า 30% ติดต่อกัน แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาจะชะลอตัว แต่ยอดขายของบริษัทยังมีทิศทางการเติบโตที่ดีสวนทางกับตลาดรวม โดยในช่วง9เดือนที่ผ่านบริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 30% จากปีที่ผ่านมา และมั่นใจว่าทั้งปีจะมียอดขายตามเป้าที่วางไว้
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น บริษัทจะต้องไปศึกษาว่าข้อกำหนดต่างๆที่ตลาด MAIก่อนว่า บริษัทที่ต้องการนำธุรกิจเข้าจดทะเบียน จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น ผลการดำเนินงานจะต้องมีรายได้ หรืออัตราการเติบโตของรายอย่างไร ฯลฯ อย่างไรก็ตามในส่วนที่จะต้องดำเนินการก่อนเข้าตลาดแน่นอน คือ การเพิ่มทุนจดทะเบียน ซึ่งเดิมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) กำหนดว่าจะต้องมีทุนจดทะเทียนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท แต่ปัจจุบันได้ปรับเพิ่มเป็นไม่ตำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของบริษัทขณะนี้มีทุนจดทะเบียนอยู่ 9.5 ล้านบาท ดังนั้นหากต้องการจะเข้าจดทะเบียนในตลาดจะต้องเพิ่มทุนอีกไม่ต่ำกว่า 40.5 ล้านบาท
"วัตถุประสงค์ที่บริษัทต้องการจะเข้าจดทะเบียนในตลาด คือ การลดต้นทุนด้านการเงิน และเพิ่มอัตราการเติบโตของรายได้และกำไร รวมถึงการผลักดันให้บริษัทมีอัตราการขยายตัวของรายได้แบบก้าวกระโดด และสามารถแข่งขันในตลาดได้มากยิ่งขึ้น"
นายสรพล กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้มากกว่า 30% อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้ปรับโฟกัสกลุ่มลูกค้าหลัก จากกลุ่มลูกค้ารับสร้างบ้านมาเป็นโครงการจัดสรรแทน เพราะตลาดรับสร้างบ้านในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตที่ชะลอตัว ประกอบกับลูกค้าโครงการจัดสรรยอมรับมาตรฐานและคุณภาพสินค้า และไว้วางใจใช้โครงสร้างหลังคาสำเร็จรูปของบริษัทเพิ่มมากขึ้น ทำให้พอร์ตลูกค้ามีสัดส่วนเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้ารับสร้างบ้าน 70% โครงการจัดสรรและลูกค้าทั่วไป 30% เปลี่ยนมาเป็นลูกค้าโครงการจัดสรร 90% และลูกค้ารับสร้างบ้าน10%
สำหรับตลาดโครงหลังคาสำเร็จรูปในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลปี 60 ยังมีการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หันมาขยายการลงทุนในโครงการแนวราบมากขึ้น และส่วนในกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านยังคงชะลอตัวตั้งแต่ต้นปีแต่ในช่วงปลายปีนี้เริ่มกลับมาดีขึ้น และคาดว่าในปีหน้าจะขยายตัวมากกว่าปีนี้ อย่างไรก็ตาม สินค้าของบริษัทเริ่มเป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจาก บริษัทอสังหาฯรายใหญ่ทำให้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และในกลุ่มบริษัทรายย่อยก็เข้ามาสั่งสินค้าจากบริษัทเพิ่มเช่นกัน
"อสังหาฯรายใหญ่ ที่เป็นลูกค้าเดิมมีการขยายตลาดออกไปต่างจังหวัด บวกกับรายใหม่ๆที่เข่ามาก็ขยายตลาดไปต่างจังหวัด ทำให้บริษัทเริ่มขยายตลาดออกไปต่างจังหวัดได้มากขึ้น โดยเฉพาะในโซน ตะวันออก และ อีสาน ส่วนภาคใต้นั้น เนื่องจากมีต้นทุนการขนส่งสูงทำให้การขยายตลาดเป็นไปได้ยาก ประกอบกับในพื้นที่ภาคใต้เองมีเจ้าตลาดอยู่แล้วทำให้บริษัทแข่งขันได้ยากเพราะมีต้นทุนการขนส่งที่มากกว่า"
ส่วนสถานการณ์เหล็กที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นมาทำ ต้นทุนสินค้าปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหล็กที่นำมาทำโครงสร้างหลังคาสำเร็จรูปนั้น มีราคาแพงกว่าเหล็กเส้นและเหล็กรีดร้อนทั่วไป ทำให้บริษัทต้องปรับราคาขายตามต้นทุนที่แท้จริง โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับราคาขายขึ้นไปแล้วกว่า 10% แต่ยังต่ำกว่าต้นทุนเหล็กที่ปรับตัวตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงขณะนี่แล้วกว่า 16-17%