หัวเรือใหญ่ “เอแอลที เทเลคอม” เผยนำสายสื่อสารลงดินโครงการสุขุมวิท ซอย 1-71 ระยะทาง 24.5 กม. แล้ว พร้อมเปิดฉากรับรู้รายได้ค่าเช่าทันทีตั้งแต่เดือนธ.ค. 60 เป็นต้นไป พร้อมเดินหน้าโครงการถัดไปปี 61 โครงการพระราม 3-ช่องนนทรี-สาทร หนุนธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน
นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการนำสายสื่อสารในโครงการสุขุมวิทเริ่มตั้งแต่สุขุมวิทซอย 1-71 ระยะทางประมาณ 24.5 กิโลเมตร ลงดินในส่วนโครงสร้างหลักเสร็จสิ้นแล้ว 100% เหลือในส่วนของการเชื่อมต่อเข้าอาคารบนถนนเพื่อการให้บริการที่ดี และมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้
ขณะเดียวกัน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวออกจากทางเท้าถนนสุขุมวิททั้งสองฝั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และปรับทัศนียภาพให้แก่คนกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ กฟน. ได้เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และจ่ายไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ปี 2558 จึงสามารถดำเนินการถอนเสาไฟฟ้าได้เร็วกว่าแผนการที่กำหนดไว้
“ALT ได้รับอนุญาตจาก กฟน. ในการใช้ท่อใต้ดิน (MEA Duct) เพื่อติดตั้งสายสื่อสารใยแก้วนำแสง และปัจจุบัน เราได้นำสายสื่อสารลงใต้ดินเสร็จสิ้นแล้วถึง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการถนนพหลโยธิน, โครงการพญาไท และล่าสุด โครงการสุขุมวิท ได้มีผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมติดต่อเข้ามาเพื่อเช่าบริการแล้วประมาณ 10 ราย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่ม Operator และกลุ่ม Cable TV ซึ่งบริษัทฯ เปิดให้เช่าทั้งในรูปแบบท่อ และแบบคอร์ (ใน Fiber มีทั้ง 72 และ 144 cores)
คาดว่าจะสามารถเริ่มรับรู้รายได้เป็นค่าเช่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นไป และบริษัทฯ ยังมีรายได้ในส่วนของงานรับเหมาก่อสร้างนำสายสื่อสารลงดินอีกด้วย ทำให้เราเชื่อมั่นว่า หากมีรายได้เข้ามาเพิ่มมากขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในอนาคต”
ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทฯ เตรียมดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินอยู่อีกหลายโครงการ อาทิ โครงการพระราม 3 - ช่องนนทรี-สาทร
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานในเส้นทางอื่น ๆ ตามแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนตามนโยบายของภาครัฐ และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเชื่อมโยงระบบการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ไปพร้อมกัน