xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ถือหุ้นกู้-รายย่อย IFEC ฟ้องอาญา ม. 157 ก.ล.ต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ถือหุ้นกู้-รายย่อย IFEC ยื่นฟ้องอาญา มาตรา 157 สำนักงาน ก.ล.ต. ฐานละเว้นจัดการบอร์ดกำมะลอ ปล่อยผู้ถือหุ้น-เจ้าหนี้หุ้นกู้ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มาเป็นเวลากว่า 1 ปี ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ชี้ชัดใช้วิธีออกเสียงแบบ Cumulative voting ผิดข้อบังคับ-พ.ร.บ. มหาชน พร้อมจี้ ก.ล.ต. สั่ง “ศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์” ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย “คืนอำนาจผู้ถือหุ้น” จัดประชุมวิสามัญเลือกบอร์ดชุดใหม่ให้ครบองค์ประชุม เร่งแก้ปัญหาสถานะการเงิน ฟื้นความเชื่อมั่น เคลียร์หนี้ เพื่อทำให้หุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง

นายสุรกิต ทองดี ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นกู้ และนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหุ้นไอเฟค ได้ยื่นฟ้องอาญา มาตรา 157 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ข้อหาหรือฐานความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดต่อศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ
 
หลังจาก ก.ล.ต. ไม่ยอมจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟคอย่างเบ็ดเสร็จ และเด็ดขาด ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ออกมายืนยันว่า การใช้วิธีการลงคะแนนแบบสะสม (Cumulative voting) ในการเลือกกรรมการของไอเฟค ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ผิดข้อบังคับของบริษัท และผิดพ.ร.บ. มหาชน ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มาเป็นเวลานานนับปี โดยศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 16 มกราคม 2561

“ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงาน ก.ล.ต. มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559-ธันวาคม 2560 เพื่อร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟค ไล่เรียงตั้งแต่การผิดชำระหนี้ตั๋วบี/อี หุ้นกู้ จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งห้ามการซื้อขายหุ้นชั่วคราว (ขึ้นเครื่องหมาย SP) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการทุกเดือน และได้รับเงินจากการแปลงวอร์แรนต์ (IFEC-W1) แต่ไม่สามารถคืนหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ได้ และมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้วงเงิน 3 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน กรรรมการของไอเฟค ที่เหลืออยู่ ซึ่งมีจำนวนไม่ครบองค์ประชุม แต่ได้มีการทำธุรกรรมนำหุ้นของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไอเฟค ถือหุ้น 51% ในโรงแรมดาราเทวี คิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ไปจำนำค้ำประกันการชำระหนี้ตั๋วบี/อี ที่มีจำนวนเพียง 100 ล้านบาท ในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ทั้งที่คณะกรรมการบริษัทฯ ไม่มีอำนาจกระทำการได้ และปล่อยให้ตั๋วบี/อี ผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งยังได้ทำธุรกรรมกู้ยืมเงินจากบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เป็นเงิน 50 ล้านบาท พร้อมกับนำหุ้นบริษัทไอเฟคที่ถืออยู่ในบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด ไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ซึ่งคณะกรรมการไม่เคยรายงาน หรือขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ซึ่งหากถูกบังคับจำนำ ย่อมทำให้ไอเฟคได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

นอกจากการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกรณีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ (โรงไฟฟ้าที่กัมพูชา) ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการลงทุนในมูลค่าที่เกินกว่าความเป็นจริง และไม่ปรากฏว่า บริษัทมีรายได้จากการนำเงินไปลงทุนดังกล่าว ทั้งยังเกิดกรณีปัญหาการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ส่อไปทางทุจริตในบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของไอเฟค มีกรณีการกล่าวอ้างว่า หนี้ของบริษัทโรงแรมดาราเทวี จำกัด จำนวนหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่มีนัยสำคัญของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหนี้ปลอม

“ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟค รายย่อยเห็นว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน ควรทำหน้าที่ของตัวเอง ในการสั่งการให้นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการที่ได้มาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย และไม่ผ่านการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น) คืนอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นโดยการจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เลือกกรรมการชุดใหม่ให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาสถานะทางการเงินของไอเฟค คืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้หุ้นกู้ ตั๋วบี/อี เร่งตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้นในไอเฟค และทำให้หุ้นของไอเฟคกลับเข้ามาซื้อขายได้อีกครั้ง หลังจากโดนแช่แข็งมานานกว่า 1 ปี” ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยไอเฟค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น