xs
xsm
sm
md
lg

1 ปีแห่งความตาย IFEC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 อีกไม่กี่วัน จะครบรอบ 1 ปี การเกิดปัญหาใน บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์  เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น IFEC 





แต่การแก้วิกฤตในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ แทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 27,170 ราย  ยังจมปรักอยู่กับความทุกข์ และไม่สามารถร้องหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดได้ แม้กระทั่งรัฐบาล

จุดเริ่มต้นของความล่มสลาย IFEC เริ่มเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งขึ้นเครื่องหมาย “เอสพี” พักการซื้อขายหุ้น หลังมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาการชำระหนี้ตัวแลกเงินหรือตัว B/E และยังไม่ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากบริษัท
 
วันที่ 30 ธันวาคม 2559  IFEC ได้ชี้แจง การผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E จำนวน 100 ล้านบาท แต่ได้แบ่งชำระหนี้คืนเรียบร้อยแล้ว
    
ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2560 ตลาดหลักทรัพย์ได้ปลดเครื่องหมาย “เอสพี” เปิดให้หุ้น IFEC กลับมาซื้อขายอีกครั้ง
    
แต่วันที่ 5 มกราคม 2560 หลังจากหุ้นกลับมาซื้อขายได้เพียงวันเดียว IFEC ได้แจ้งการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E อีกครั้ง วงเงิน 200 ล้านบาท
     
วันรุ่งขึ้น 6 มกราคม 2560 ตลาดหลักทรัพย์สั่งแขวนป้าย “เอสพี”  พักการซื้อขายหุ้น IFEC ซ้ำสอง แต่ครั้งนี้ เป็นการพักซื้อขายยาว  กระทั่งบัดนี้หุ้นยังไม่ได้กลับมาซื้อขาย

รอบเวลา 1 ปีที่ผ่านมา IFEC เกิดปัญหาตามมามากมาย หนี้ทุกประเภทผิดนัดการชำระ การบริหารงานภายในมีปัญหา เกิดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างกรรมการบริษัท ฯ  การประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อร่วมกันกำหนดชะตากรรมบริษัท ไม่อาจจัดขึ้นได้ เนื่องจากข้ออ้างด้านกฎหมาย

คณะกรรมการบริษัทชุดปัจจุบัน รอการพิจารณาจากศาลว่า ถูกแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่      ขณะที่นายแพทย์วิชัย  ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการบริหาร ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ ฐานลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริษัท ไม่ชอบด้วยข้อบังคับบริษัท และต้องพ้นจากตำแหน่ง
    
การแก้ปัญหา IFEC หยุดชะงักมาเกือบ 1 ปีเต็ม ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ยังคาราคาซังอยู่ ไม่มีการส่งงบการเงินหลายไตรมาสติดต่อกัน และไม่มีใครรู้ว่า คณะกรรมการบริษัท ฯ ทำอะไรกันอยู่ การบริหารงานภายในเป็นอย่างไร

ผู้ถือหุ้น IFEC เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์เข้ามาคลี่คลายปัญหา ในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้น

แต่ไม่มีความคืบหน้าใดในการแก้ปัญหา จนผู้ถือหุ้นต้องทำหนังสือร้องเรียนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  แต่ทุกอย่างยังเงียบเหมือนเป่าสาก 
      
จนล่าสุด ผู้ถือหุ้นได้ยื่นฟ้อง ก.ล.ต. ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามความผิดในมาตรา 157 วิกฤตใน IFEC เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลว ในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ เพราะเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองหน่วยงาน ไม่มีมาตรการที่จะช่วยเยียวยาผู้ถือหุ้นรายย่อยแต่อย่างใด
    
ก.ล.ต. มีอำนาจอนุมัติให้บริษัทเอกชนนำหุ้นเสนอขายประชาชนทั่วไป ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีอำนาจพิจารณา รับบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียน แต่กลับไม่มีอำนาจเข้าไปแก้วิกฤตบริษัทจดทะเบียนที่ก่อความเสียหายให้ผู้ถือหุ้น
    
ปล่อยให้ผู้ถือหุ้น IFEC จำนวนเกือบ 30,000 คน  ตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ แม้ว่า IFEC จะมีหนี้จำนวนมาก แต่ประเมินกันว่า ทรัพย์สิน IFEC มีสูงกว่ามูลหนี้ บริษัท ฯ จึงไม่อยู่ในภาวะล้มละลาย   และอยู่ในฐานะที่ฟื้นฟูผลดำเนินงานได้ ถ้ามีการแก้ปัญหาบริหารงานภายในที่รวดเร็ว
    
แต่ถ้าการแก้ปัญหายืดเยื้อ โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท และอำนาจการบริหารงานยังไม่มีความชัดเจน   ผลดำเนินงานจะทรุดลงต่อเนื่อง ในที่สุดจะกระทบต่อฐานะทางการเงิน
    
ทุกวันนี้ ไม่มีใครรู้ฐานะที่แท้จริงของ IFEC ไม่รู้ว่า คณะกรรมการบริษัทฯทำอะไรกันอยู่ และทรัพย์สินทั้งหมดถูกยักย้ายถ่ายเทไปทางไหนบ้างหรือไม่

น่าเวทนาผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ “ติดกับ” IFEC อยู่ เพราะทุกคนเชื่อว่า เมื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจาก ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์

แต่ถึงเวลาที่เดือดร้อน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ กลับทอดทิ้ง ปล่อยนักลงทุนตามยถากรรม  วิกฤต IFEC เป็นหลักฐานที่เห็นกันอยู่คาตา

กำลังโหลดความคิดเห็น